“ระวัง! กินเค็ม เดี๋ยวเป็นโรคไต” คำพูดนี้ เป็นความเป็นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากการทานเครื่องปรุงรสประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา เกลือ รวมถึงเครื่องปรุงรสอื่นๆ เป็นสาเหตุให้ไตของเราต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น จนอาจเป็นสาเหตุของโรคไตได้ในที่สุด ใครก็ตามที่เคยเห็นคนที่ฟอกไต น่าจะพอเข้าใจถึงความยากลำบากแสนจะทรมานของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี (ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องของการรับประทานอาหารในระหว่างที่รักษาตัว ซึ่งค่อนข้างจะลำบากมากกว่าปกติอีกด้วย) นอกจากโรคไตแล้ว คนที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ก็ควรที่จะควบคุมปริมาณของเกลือในแต่ละวัน ดังนี้
ก่อนปรุงทุกครั้ง ชิมก่อน
ก่อนที่เราจะรับประทานอาหารประเภท เกาเหลา, ก๋วยเตี๋ยว, สุกี้ หรือก๋วยจั๊บ ก่อนที่จะปรุงทุกครั้ง ควรลองชิมดูก่อน เพราะว่าบางครั้งทางร้านจะปรุงรสมาให้เราอยู่แล้ว หากเราเผลอเติมเครื่องปรุงเพิ่มเติมลงไปอีก นอกจากรสชาติจะเค็ม หรือรสจัดมากจนเกินไปแล้ว ก็จะทำให้อาหารเสียรสชาติไป และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างนิสัยในการทานรสจัดให้ตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัวด้วย
ไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซอส เกลือ หรือซีอิ๊ว วางอยู่บนโต๊ะอาหาร
พยายามลดการเติม หรือปรุงรสเพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใครก็ตามที่ชอบเหลือบไปเห็นเครื่องปรุงรสวางอยู่บนโต๊ะอาหารแล้วอดใจที่จะหยิบขึ้นมาไม่ได้ ให้เลือกโต๊ะที่ไม่มีเครื่องปรุง หรือยกเครื่องปรุงออกไปจากโต๊ะทันที รวมถึงโต๊ะอาหารภายในบ้านด้วย จะช่วยลดความคันไม้คันมือในการอยากปรุงอาหารเพิ่มไปได้เยอะเลยทีเดียว
ลดการรรับประทานอาหารแปรรูป
โดยปกติแล้ว อาหารแปรรูปประเภทต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องปรุงรสเพิ่ม หรือใส่เกลือเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการรักษาสภาพอาหารเหล่านั้นให้คงอยู่ได้นานยิ่งขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นเป็นการถนอมอาหารที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรรับปะทานอาหารแปรรูปเหล่านี้ในปริมาณที่มากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เรามีอาหารที่สด และใหม่มากพอในแต่ละวัน อาหารเหล่านี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำเก็บไว้เหมือนในอดีต อาหารแปรรูปที่เราควรจะหลีกเลี่ยง ได้แก่ ปลาเค็ม, เบคอน ,ไข่เค็ม, ผักหรือผลไม้ดอง และเต้าหู้ยี้ เป็นต้น
ลดการรับประทานอาหารกึ่งสำเร็จรูป
อาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูปแต่ละประเภทนั้น ส่วนมากเต็มไปด้วยเครื่องปรุงที่มีรสเค็มจัด แถมยังมีผงชูรสอีกด้วย ดังนั้นใครที่ชอบรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, โจ๊กกระป๋อง, ปลากระป๋อง และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ในปริมาณที่มากๆ อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับโซเดียม(sodium)มากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามหากเรามีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานจริงๆ ก็ควรจะลดปริมาณการใส่เครื่องปรุงให้น้อยที่สุด ไม่ควรใส่จนหมดซอง เพื่อลดความเข้มข้นของโซเดียม(sodium)ที่มากับเครื่องปรุงนั่นเอง
ลดความถี่ และปริมาณน้ำจิ้ม
อาหารที่มีน้ำจิ้มทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำจิ้มซีฟู้ด, น้ำจิ้มสุกี้, น้ำจิ้มลูกชิ้น หรือโชยุ ที่ใช้รับประทานกับปลาดิบ น้ำจิ้มที่ทานกับไส้กรอก, ซอสมะเขือเทศ รวมถึงน้ำจิ้มชนิดต่างๆ มักจะมีส่วนผสมของโซเดียม(sodium)อยู่สูง อย่างไรก็ตามหากเราต้องการรับประทานอาหารที่มีรสชาติ ขอแนะนำให้ลดการทานน้ำจิ้มลง โดยจิ้มอาหารเหล่านั้นลงบนน้ำจิ้มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พอแค่ให้รับรู้รสชาติ
หลีกเลี่ยงอารจานด่วน
อาหารจานด่วน หรือ Fast Food ทั้งหลาย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเภทอาหารที่มีการปรุงรสค่อนข้างจัด เนื่องจากเป็นการทำเตรียมไว้ในปริมาณมาก และส่วนประกอบบางอย่างมีการปรุงเพื่อให้สามารถเก็บเอาไว้ได้นานหลายวัน เช่น เนื้อในเบอร์เกอร์ที่มีการทำแล้วแช่แข็งเอาไว้ ก่อนนำมาอุ่นเพื่อรับประทาน ซึ่งอาหารเหล่านี้มีความจำเป็นต้องใช้โซเดียมในปริมาณสูง เพื่อให้สามารถเก็บรักษาอาหารให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากเราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงอาหารเหล่าประเภทนี้ได้ ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง หรือควรรับประทานในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น
ลดการรับประทานขนมกรุบกรอบ
ขนมกรุบกรอบ ประกอบไปด้วยโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเกลือธรรมดา หรือเครื่องปรุงต่างๆ ที่ใช้โรยลงไปบนขนม เพื่อทำให้เกิดรสชาติและกลิ่นตามที่ต้องการ แต่การรับประทานขนมกรุบกรอบเข้าไปในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้เราได้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ที่ร่างกายของเราต้องการในแต่ละวัน ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณโซเดียมที่เราได้รับจากอาหารก็มีปริมาณที่มากพออยู่แล้ว ดังนั้นหากรับประทานขนมที่มีโซเดียมสูงเพิ่มเข้าไปอีก ไตของเราก็ต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้น และอาจจะเกิดผลเสียตามมาได้
เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุปริมาณโซเดียมชัดเจน
หากเราไม่ทราบวจริงๆ ว่า อาหารแต่ละประเภท มีปริมาณของโซเดียมเท่าใด เราสามารถที่จะดูได้จากฉลากที่ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ จะระบุปริมาณโซเดียมเอาไว้ เราควรเลือกซื้ออาหาร หรือขนมที่มีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค และควรพยายามจำกัดปริมาณโซเดียมที่ตัวเองได้รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมหรือ 1 ช้อนชา/วัน ตามปริมาณที่องค์กรอนามัยโลกได้กำหนดไว้
ในระยะแรกๆ ที่เราลดการปรุงรสอาหารลงนั้น อาจจะเกิดความรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติจืดเกินไป แต่ขอให้อดทนรับประทานรสนั้นไปก่อน เมื่อลิ้นของเราเริ่มปรับการรับรสได้ เราก็จะเริ่มคุ้นเคยกับรสอาหารที่เรารับประทานเข้าไปบ่อยๆ จนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรุงอาหารก่อนรับประทานอีกเลย และเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งดีๆ ที่จะตามมาคือ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะไม่มารบกวนเราอีกต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข
ภาพ : https://www.medpagetoday.com/
เรียบเรียง : ถั่งเช่า ม.เกษตร (คอร์ดี้ไทย)