คอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดสูง เราสามารถควบคุมได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลด ละ เลี่ยง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง แล้วหันมาทาน อาหารลดไขมัน กันดีกว่าค่ะ
โรคไขมันในเลือดสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง เป็นภาวะที่สามารถพบเจอได้ ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการรักษาโดยทั่วไปก็คือการทานยาเพื่อควบคุมระดับไขมัน แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะจะว่ากันจริงๆ แล้ว สาเหตุหลักก็มาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเรานี่เอง ถ้ารู้จักควบคุมอาหารตั้งแต่ก่อนป่วย หรือแม้กระทั่งป่วยไปแล้ว ก็จะช่วยทำให้ระดับไขมันที่สูงลดลงได้ วันนี้ ถั่งเช่า ม.เกษตร มีข้อมูลดี ๆ มาบอกต่อกันค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโรคไขมันในเลือดสูง และอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นไขมันในเลือดสูงกันก่อน
โรคไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งชนิดของไขมันที่สูงนั้นอาจเป็นไตรกลีเซอไรด์สูงคอเลสเตอรอลสูง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง และในบางกรณีก็อาจจะเป็นทั้งสองชนิด ซึ่งภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ และโรคไทรอยด์ต่ำ เป็นต้น
โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจะต้องมีระดับไขมันดังนี้
คอเลสเตอรอลรวม
- ระดับที่ต้องการ : น้อยกว่า 200 mg/dL (ถือว่าเหมาะสม)
- ระดับปานกลาง : 200 – 239 mg/dL (เริ่มอันตราย)
- ระดับสูง : มากกว่า 240 mg/dL (อันตรายมาก)
คอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL)
- ระดับที่ต้องการ : มากกว่า 60 mg/dL (ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ไม่ควรเกิน 100 mg/dL)
- ระดับที่สามารถรับได้ : 40 – 59 mg/dL
- ไม่ควรต่ำเกิน : 40 mg/dL (ยิ่งต่ำยิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ)
คอเลสเตอรอลชนิดที่ดี ทำหน้าที่ในการนำพาไขมันที่ไม่ดีต่างๆ ในร่างกายไปยังตับเพื่อทำการย่อยสลาย ซึ่งไขมันชนิดนี้เป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย ยิ่งมีมากก็จะยิ่งทำให้ไขมันที่เข้าไปในร่างกายไม่เกิดการตกค้าง และยังช่วยกำจัดไขมันไม่ดีอย่างไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ได้อีกด้วย
คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL)
- ระดับที่ต้องการ : น้อยกว่า 130 mg/dL (น้อยกว่า 100 mg/dL สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน)
- ระดับปานกลาง : 130 – 159 mg/dL
- ระดับสูง : มากกว่า 160 – 189 mg/dL
- ระดับสูงมาก : ตั้งแต่ 190 mg/dL ขึ้นไป
คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) เป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายซึ่งหากสะสมอยู่ในร่างกายมาก ๆ ก็จะไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบตัน จนเกิดภาวะอุตตันในเส้นเลือด ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในที่สุด
ไตรกลีเซอไรด์
- ระดับที่ต้องการ : น้อยกว่า 150 mg/dL
- ระดับปานกลาง : 150 – 199 mg/dL
- ระดับสูง : มากกว่า 200 – 499 mg/dL
- ระดับสูงมาก : ตั้งแต่ 500 mg/dL ขึ้นไป
ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันชนิดที่ไม่ดี ที่จะคอยขัดขวางไม่ให้คอเลสเตอรอลที่ดีไปจัดการกับไขมันที่อยู่ในเลือด หากมีมากจนเกินไป คอเลสเตอรอลที่ดีก็จะไม่สามารถกำจัดไขมันที่ไม่ดีในเลือดได้ ส่งผลให้ไขมันที่ตกค้างอยู่ไปเกาะสะสมอยู่ในหลอดเลือดทำให้เกิดการอุดตันในที่สุด
สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความปกติทางพันธุกรรม ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ หรือเกิดจากบางโรคเช่น โรคไทรอยด์ต่ำ โรคเบาหวาน โรคไต แต่สาเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่มีพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย และการดื่มเครื่องดื่มในปริมาณมากเป็นประจำ รวมถึงการไม่ออกกำลังกายอีกด้วยค่ะ
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูง
วิธีการวินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูงนั้น จะตรวจโดยการเจาะเลือด ซึ่งจะต้องทำตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และนำเลือดไปตรวจหาระดับไขมันในเลือด 3 ชนิด ได้แค่ คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี( HDL) จากนั้นจึงจะนำค่าไขมันทั้ง 3 ชนิดไปคำนวณหาค่าคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี(LDL) วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อค่าไตรกลีเซอไรด์สูงไม่เกิน 400 mg/dL แต่ถ้าหากค่าไตรกลีเซอไรด์สูงกว่านี้ก็จำเป็นจะต้องเจาะเลือดเพื่อหาค่าคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี หรือ LDL โดยตรงแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
โดยการตรวจหาระดับไขมันทั้ง ไตรกลีเซอไรด์ และ คอเลสเตอรอลรวม ทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีนั้นจำเป็นต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง โดยเริ่มงดตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป โดยอาจจะจิบน้ำเปล่าได้นิดหน่อย
วิธีการรักษาเมื่อระดับไขมันในเลือดสูงผิดปกติ
เมื่อเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง วิธีการรักษาก็คือการใช้ยา โดยแพทย์จะสั่งยาในกลุ่ม Bile acid sequestrants และ Statins เพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย และยาในกลุ่ม Icotinic acid, Fibric acids derivatives หรือ Analogue เพื่อช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด โดยยาเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น แต่นอกจากการใช้ยาแล้วเรายังควรรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน ตลอดจนออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงจนอยู่ในระดับปกติได้
อาหารที่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง
- เนื้อปลา หรือ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
- ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่มีไขมัน เช่น นมพร่องหรือขาดมันเนย โยเกิร์ตไม่มีไขมัน เป็นต้น
- ถั่วชนิดต่างๆ
- ผักสดชนิดต่างๆ โดยเฉพาะข้าวโพดและกระเทียม
- ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง เป็นต้น
- ผลไม้ไม่มีรสหวานจัด หรือสุกมากจนเกินไป
- อาหารประเภทต้ม ต้มยำ แกงส้ม ยำ นึ่ง อบ ย่าง แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ
- หลีกเลี่ยงการใช้ไขมันจากสัตว์ และหันมาใช้ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด ในการประกอบอาหารแทน แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เพราะอาจจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีสูงขึ้น และส่งผลให้หลอดเลือดตีบแข็งได้
- อาหารที่มีไฟเบอร์หรือมีกากใยสูง เพราะอาหารเหล่านี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
- ไขมันจากปลาทะเล เช่นปลาแซลมอน น้ำมันตับปลา เพราะไขมันจากเนื้อปลานั้นจะช่วยทำให้ไตรกลีเซอไรด์น้อยลง และลดการจับตัวของเกล็ดเลือดอีกด้วย
อาหารที่คนเป็นโรคไขมันในเลือดสูงควรหลีกเลี่ยง
- เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ หนังเป็ด ไข่แดง เบคอน แฮม และหมูยอ
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ
- อาหารทะเลบางชนิด เช่น หอยนางรม และ ปลาหมึก
- ขนมหรือของว่างที่มีไขมันแฝงอยู่ เช่น โดนัท ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม เค้ก คุกกี้
- ขนมหวานที่มีส่วนประกอบของกะทิ น้ำตาล หรือมะพร้าว เช่น ขนมหม้อแกง กล้วยบวชชี หรือขนมถ้วย เป็นต้น
- ไขมันที่ได้จากสัตว์ทุกชนิด เช่น มันหมู มันไก่ มันวัว เนย
ตัวอย่างปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลที่มีในอาหาร 100 กรัม
อย่างไรก็ตามหากมีน้ำหนักตัวเกินก็ควรพยายามลดน้ำหนักตัวลง งดการสูบบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดโดยเฉพาะเบียร์ เพราะจะทำให้สะสมเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
จะเห็นได้ว่าโรคไขมันในเลือดสูงไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวเลย เราจึงควรรักษาสุขภาพ และระมัดระวังการรับประทานอาหารให้ดี หลีกเลี่ยงการทานอาหารมันๆ งดได้ก็ควรงด เพราะว่าถึงแม้อาหารเหล่านั้นจะอร่อยแค่ไหน แต่ถ้าต้องแลกมากับสุขภาพของเรา ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ สำหรับใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองมีระดับไขมันสูงหรือไม่ ก็ควรไปตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อที่เราจะได้ระมัดระวัง ก่อนที่ “มัน” จะมาเยือนนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- โรงพยาบาลบางโพ
- www.doctor.or.th