โรคไตถือเป็นโรคเรื้อรังอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนาน อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนไตได้
หน้าที่หลักของไต
โดยปกติคนเราเกิดมามีไตทั้งหมด 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไต คือ การขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายของเราออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเราสะอาด ของเสียที่ไตต้องขับออกมานั้น บางส่วนมาจากอาหาร อีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
เราจะเป็นอย่างไร หากไม่มีไต?
หากคนเราไม่มีไต หรือไตหยุดการทำงาน ของเสียที่กล่าวมาข้างต้นจะคั่งค้างอยู่ในอวัยวะในร่างกาย และกระแสเลือด ทำให้เลือดและอวัยวะในร่างกายเกิดความสกปรก ในท้ายที่สุดอวัยวะต่างๆในร่างกายจะหยุดทำงาน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
สาเหตุของโรคไต
นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคไต มาจากโรคความดันโลหิตสูง และ โรคเบาหวาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความอ้วน กินอาหารเค็ม ไขมันสูง และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถรักษาเพื่อไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคไตวายได้
วิธีรักษาโรคไต
ในทางการแพทย์ มีวิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคไตวาย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวได้
วิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรัง มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
- การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
- การผ่าตัดเปลี่ยนไต (เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด)
เมื่อไรถึงควรผ่าตัดเปลี่ยนไต?
ในระยะเริ่มแรกที่ไตเสื่อมจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติใดๆ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการก็ต่อเมื่อไตเสื่อมไปแล้วมากกว่า 80% ซึ่งเมื่อถึงระยะดังกล่าวนี้แล้ว การรักษาที่ดีที่สุดคือ “การผ่าตัดเปลี่ยนไต” เนื่องจากจะสามารถทดแทนไตเดิมได้เหมือนปกติ โดยสามารถวัดระดับของไตที่เสื่อมลงจากการตรวจของแพทย์เท่านั้น
วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไต
วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้ 2 วิธี ดังนี้
- การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ซึ่งขณะที่ผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่นั้นได้เคยยื่นแสดงความจำนงต้องการบริจาคอวัยวะให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยไว้ หรือในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่เคยยื่นแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมาก่อน แต่ครอบครัวต้องการบริจาคอวัยวะ ก็สามารถทำได้โดยยื่นแสดงความจำนงต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย แทนผู้เสียชีวิตได้
- การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ จากคู่สมรส หรือจากญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต ในกรณีที่ผู้บริจาคไตเป็นญาติพี่น้องกัน ตามกฎหมายของประเทศไทยกำหนดไว้ว่าต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์กันทางสายเลือดก่อน สำหรับคู่สมรสที่จะบริจาคไตให้กันได้นั้น ต้องมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายมาอย่างน้อยสามปี หรือต้องมีบุตรด้วยกัน ที่สามารถตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ของคู่สมรสได้
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไตวาย
- ควบคุมอาการของโรคประจำตัว เช่นความดันโลหิตสูง อ้วน ไขมันสูง เบาหวาน ให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติโดยเร็ว
- เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์
- ลดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารจำพวกแป้ง และอาหารเค็มจัด
- ทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
- เลือกรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว
- ทานเนื้อปลา
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ งดสูบบุหรี่
- ตรวจเช็คร่างกาย ตรวจความดัน เบาหวาน รวมถึงไขมันในเลือด
การเอาใจใส่ ระวังรักษาสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันและการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณ
ข้อมูลจาก : นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์
ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต
โรงพยาบาลพระรามเก้า
ภาพ : https://www.indiamart.com/
เรียบเรียบ : ถั่งเช่า ม.เกษตร(คอร์ดี้ไทย)