ภูมิแพ้ อาการ สาเหตุ รักษา

1.ภูมิแพ้เป็นพันธุกรรมหรือไม่ ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากน้อยแค่ไหน

คำตอบ : เป็น สาเหตุของโรคภูมิแพ้ เกิดจาก กรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม   โดยพบว่า ถ้าพ่อ หรือแม่ เป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50   แต่ถ้าทั้งพ่อ และแม่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีผลให้ลูกมีโอกาส เป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70   ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัว ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ เพียงร้อยละ 10

2. สังเกตว่าอาการแพ้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนแพ้แล้วคัดจมูก บางคนแพ้แล้วคัน บางคนแพ้แล้วมีผื่นขึ้น ทำไมอาการของแต่ละคนถึงแตกต่างกัน มีสาเหตุจากอะไร เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือไม่

คำตอบ : โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น เช่น ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ก็จะมีอาการทางผิวหนัง ถ้าเป็นที่จมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ ก็จะมีอาการทางจมูก, การที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดใด ก่อน หรือหลัง ขึ้นอยู่กับยีน หรือพันธุกรรมที่จะแสดงออก โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้น

3.เมื่อก่อนแพ้แต่ไรฝุ่น แต่ทำไมปัจจุบันแพ้เยอะแยะไปหมดและเป็นมากขึ้น เป็นเพราะอะไรและจะแก้ไขอย่างไร

คำตอบ : โรคภูมิแพ้ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ทำงานมากเกินไป ทำให้อวัยวะเป้าหมายมีความไว หรือตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ การที่แพ้สารก่อภูมิแพ้มากชนิดขึ้น และมีอาการมากขึ้น เกิดจากมีเหตุที่กระตุ้นอวัยวะเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ไม่ได้หลีกเลี่ยงเหตุนั้นๆ แก้ไขโดยพยายามหลีกเลี่ยงเหตุที่กระตุ้นทำให้มีอาการมากขึ้น และ พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อร่างกายแข็งแรงและสามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้

4. อาการภูมิแพ้จะมีโอกาสหายขาดได้หรือไม่

คำตอบ : โรคภูมิแพ้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม  แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการ หรือมีอาการน้อยที่สุดได้

5. ตอนเด็กๆ ก็ไม่แพ้อะไร ทำไมโตขึ้นมาถึงแพ้ได้

คำตอบ : สาเหตุของโรคภูมิแพ้ เกิดจาก สิ่งแวดล้อม และกรรมพันธุ์ การแสดงออกของอาการโรคภูมิแพ้ จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว จะเกิดขึ้นในวัยเด็ก หรือในวัยผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมหรือยีน ที่จะแสดงออก โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น

6. ยาแก้แพ้เมื่อใช้ไปนานๆ ติดต่อกันเป็นเดือน จะมีผลเสียอย่างไร และ จะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่

คำตอบ : ไม่มีผลเสีย ถ้าผู้ป่วยมีการทำงานของตับ และไตที่ปกติ เพราะยาแก้แพ้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านตับ และไต แต่ถ้าตับ และไตทำงานผิดปกติ อาจมีการสะสมของยาในร่างกายได้ อย่างไรก็ตามการใช้ยาแก้แพ้ไปนานๆ เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อหยุดใช้ยาแก้แพ้ และผู้ป่วยไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ อาการของโรคก็จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีก

7. ยาพ่นจมูกที่ใช้แล้วทำให้จมูกโล่งทันที เมื่อใช้ไปนานๆ จะมีผลข้างเคียงหรือไม่

คำตอบ : มี จะทำให้ยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบ และบวมจากการใช้ยาหดหลอดเลือดชนิดพ่นจมูกนานเกินไป แนะนำให้ใช้ยาพ่นจมูกไม่เกิน 7 – 10 วัน เพราะยาจะทำให้เส้นเลือดของเยื่อบุจมูกหดตัว ส่งผลให้เยื่อบุจมูกยุบบวม แต่ถ้าใช้ไปนานๆ เส้นเลือดของเยื่อบุจมูกที่เคยหดตัว จะกลับมาขยายตัว ส่งผลให้เยื่อบุจมูกกลับมาบวมใหม่ และทำให้มีอาการคัดจมูกตามมา

8. มีน้ำมูกขณะตื่นนอนตอนเช้าทุกวัน พอสักพักก็จะหายไปเอง เป็นอาการแพ้อากาศหรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไร ลองปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศแล้วก็ยังเป็นอยู่

คำตอบ : การที่มีน้ำมูกตอนตื่นนอนตอนเช้า แสดงว่าต้องมีเหตุที่ไปกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อบุจมูก ซึ่งมักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมในห้องนอนเป็นตัวกระตุ้น เช่นฝุ่นละอองในห้องนอน อากาศภายในห้องมักจะเย็น เนื่องจากอากาศภายนอกตอนเช้า มักจะเย็นกว่าเวลาอื่นของวัน สักพัก อาการจะหายไป เนื่องจากขณะนั้น ไม่มีเหตุไปกระตุ้นเยื่อบุจมูกที่ไวนั้นแล้ว  วิธีการแก้ไขควรจัดสิ่งแวดล้อมในห้องนอน ไม่ให้มีสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม เป่าจ่อ หรือเย็นจนเกินไป

9. เราควรหยุดยาแก้ภูมิแพ้เมื่อไหร่ดี
คำตอบ : เมื่อสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้พอสมควร รวมถึงมีการออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย (เช่น ขึ้นลงบันได, เดินเร็ว, วิ่ง, เต้นแอโรบิค, ว่ายน้ำ, เล่นเทนนิส, เตะฟุตบอล,บาสเกตบอล หรือ แบดมินตัน) อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน

10. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคภูมิแพ้จมูก มีอะไรบ้าง
คำตอบ : ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคหืดเจ็บคอเรื้อรัง ไอเรื้อรัง ริดสีดวงจมูก นอนกรน และ / หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง :

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : traditionalacupuncture.com.au

เรียบเรียงโดย : ถั่งเช่า ม.เกษตร (คอร์ดี้ไทย)

10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ “ภูมิแพ้”