กระดูกพรุน กระดูกหัก ภัยร้ายของผู้หญิงวัย 40 – 80 ปี
กระดูกพรุนและกระดูกหักในผู้สูงอายุจากโรคกระดูกพรุนนั้นพบได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังมีตัวเลขที่พุ่งสูงมากขึ้น (ผู้สูงวัยคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)
สถานการณ์โรคกระดูกพรุน
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณะสุขได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคกระดูกหักในผู้สูงอายุจากโรคกระดูกพรุนค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังมีตัวเลขที่พุ่งสูงมากขึ้น
ซึ่งในปี 2562 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรเด็กเป็นครั้งแรก คือ จะมีผู้สูงวัย 18% เด็ก 15.9% และในปี 2564 นี้เอง ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรสูงวัยมากกว่า 20% และในปี 2574 จะมีอัตราส่วนของประชากรสูงวัยมากถึง 28% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ
1 ใน 5 ของผู้หญิงวัย 40 – 80 เป็นโรคกระดูกพรุน
ศ.นพ.อารี ตนาวลี ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณะสุขได้ให้ความสนใจในเรื่องกระดูกหักในผู้สูงวัยจากโรคกระดูกพรุนค่อนข้างมาก จากสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทย หลายหน่วยงานจึงร่วมกันรณรงค์หาวิธีแก้ปัญหา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเสียชีวิต ประมาณ 20 – 25 % ในปีแรก และผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งทางราชวิทยาลัยฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอันตรายที่เกิดจากภาวะดังกล่าว แพทย์ออร์โธปิดิกส์จึงร่วมมือกันให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำของกระดูก
อย่างไรก็ตาม กระดูกหักในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนนั้นพบได้บ่อยกว่าที่คิด ซึ่งจะมีกระดูกหักใหม่เกิดขึ้นทุกๆ 3 วินาที จากประชากรทั่วโลกพบว่ามีสตรีที่เป็นโรคกระดูกพรุนประมาณ 200 ล้านคน ในประเทศไทยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงอายุ 40 – 80 ปี เป็นโรคกระดูกพรุน
บริเวณที่พบกระดูกหักบ่อยๆ จากการหกล้ม คือกระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ ในส่วนของกระดูกสันหลังหักอาจพบโดยการเกิดการยุบตัว อาจจะเป็นเพราะอุบัติเหตุหรือเกิดขึ้นเอง และหากไม่ควบคุมภาวะกระดูกพรุนให้ดีพอก็อาจเกิดการหักซ้ำในส่วนอื่นๆ ได้ ซึ่งทางราชวิทยาลัยฯ ได้รณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงภาวะกระดูกพรุนและจะดำเนินต่อไปให้เป็นวงกว้างมากขึ้น
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน มีโอกาสเกิดกระดูกหักซ้ำได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการกระดูกหักจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สาเหตุที่ทำให้กระดูกพรุน
รศ.นพ.สัตยา โรจนเสถียร ว่าที่ประธานอนุสาขาเมตาบอลิกและผู้สูงอายุ กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนคือโรคที่ผู้ป่วยมีมวลกระดูกต่ำ โครงสร้างของกระดูกเสื่อมโทรม ไม่แข็งแรงและกระดูกหักได้ง่ายแม้เป็นเพียงการล้มเบาๆ ผลกระทบที่สำคัญของโรคกระดูกพรุนคือกระดูกที่หักในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูกข้อมือหัก กระดูกต้นแขนหัก กระดูกเชิงกรานหัก กระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก เป็นต้น และการมีกระดูกหักในตำแหน่งต่างๆ นี้จะทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันลดน้อยลง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร
ผู้ป่วยที่เคยกระดูกหักจากเหตุที่ไม่ร้ายแรงเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งของการมีคุณภาพกระดูกที่ไม่ดี และเป็นโรคกระดูกพรุน ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสเกิดกระดูกหักซ้ำได้มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า ดังนั้นการป้องกันก่อนกระดูกหักจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะเดียวกันการป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยที่เคยกระดูกหักมาก่อนนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ดังมีข้อมูลแสดงว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักที่ไม่ได้รับยารักษาโรคกระดูกพรุน มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาถึงสองเท่า
วิธีป้องกันและรักษา กระดูกพรุน
รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ประธานอนุสาขาเมตาบอลิกและผู้สูงอายุกล่าวว่าการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นไม่ยาก โดยเริ่มจากการวินิจฉัยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เช่น คนไข้ที่หมดประจำเดือนเร็ว ผู้ที่มีประวัติกระดูกหัก หรือกระดูกสันหลังยุบ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีและน้ำหนักน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ให้ส่งตรวจค่ามวลกระดูก และตรวจเลือดเพิ่มเติม หากเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว จึงเลือกใช้ยาตามข้อบ่งชี้ ซึ่งยาจะมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ ยากระตุ้นการสร้างกระดูก และยาต้านการสลายกระดูก และควรพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายในระยะเวลาที่เหมาะสม จากนั้นจึงติดตามผล โดยตรวจวัดมวลกระดูกทุก 1 – 2 ปี
ขอบคุณข้อมูล : goodlifeupdate.com
ภาพ : ชีวจิต