อาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ไม่มีแรง,ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง กินอะไรดี

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์เพราะอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ไม่มีแรง โดยไม่ทราบสาเหตุ พบแพทย์หลายที่ เข้าโรงพยาบาลโน้น ออกโรงพยาบาลนี้ แต่ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติ แม้จะพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่อาการอ่อนเพลียก็ยังไม่หาย เป็นเพราะอะไรกันแน่! วันนี้เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันว่า เพราะอะไร จึงมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง

นพ.ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ประจำโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ได้อธิบายว่า อาการเหนื่อย เปลี้ย อ่อนแรง ที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงกลุ่มอาการกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่ากลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome, CFS) ที่ยังไม่ถึงขั้นกล่าวได้ว่าเป็นโรค โดยจะทราบว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นเป็นอาการเรื้อรังก็เมื่อมีอาการนั้นติดต่อกันนานมากกว่า 6 เดือน อีกทั้งยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อแต่ไม่มีอาการอักเสบเกิดขึ้น มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ ในบางคนอาจมีอาการไข้อ่อนๆ ร่วมด้วย อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย หรือบางคนอาจมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนี้ปัจจุบันก็ยังคงเป็นอาการที่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดอาการที่แน่ชัด

อ่อนเพลียเรื้อรังอันตรายหรือไม่?

       เนื่องจากอาการอ่อนเพลียเรื้อรังทำให้ผู้ที่มีอาการนี้รู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง หมดกำลังใจ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจหรือทำงานต่างๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งอาการเซื่องซึม ไร้ชีวิตชีวาก็อาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

สาเหตุของการเกิดอาการอ่อนเพลีย

นพ.ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท ให้ข้อมูลว่า โดยส่วนใหญ่คาดว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดได้จาก

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เรื่องของความเครียดสะสมที่อาจส่งผลทำให้ต่อมหมวกไตล้า โดยต่อมหมวกไตจะเป็นต่อมอยู่เหนือไตทั้งสองข้าง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ปกติจะหลั่งออกมาในตอนเช้า ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย สดชื่น และยังช่วยในเรื่องของภูมิคุ้มกัน สภาพผิว ความแข็งแรงของร่างกายอีกด้วย เมื่อมีอาการเครียด ฮอร์โมนคอร์ติซอลตัวนี้ก็จะถูกหลั่งออกมาเพื่อมาจัดการกับความเครียด และเมื่อมีอาการเครียดสะสมตลอดเวลา ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะยิ่งถูกหลั่งออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ต่อมหมวกไตที่เป็นตัวหลั่งเกิดอาการล้าขึ้นได้ ทำให้ไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ได้อย่างเป็นปกติ เมื่อตื่นมาในตอนเช้าร่างกายจึงมีอาการอ่อนเพลีย เปลี้ย ไร้เรี่ยวแรง และเริ่มมีอาการเจ็บป่วย เป็นภูมิแพ้บ่อยเพราะระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงดังเดิม
  •  การมีโลหะหนักสะสมในร่างกาย เช่น พวกสารตะกั่ว ปรอท อาร์เซนิกหรือสารหนู แคดเมียม ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ถูกคาดว่าอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ โดยร่างกายเราสามารถรับสารเหล่านี้ได้จากสิ่งแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสารปรอทจากเครื่องสำอางที่ใช้ สารที่เจือปนมากับอาหารทะเล
  • คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic wave) ที่ส่งผลต่อสมอง ส่งผลต่อการนอนหลับ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าก็มาจากอุปกรณ์หลากหลายอย่าง เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ไอแพด คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเรานอนตอนกลางคืนอุปกรณ์พวกนี้ก็จะมีการปล่อยคลื่นที่มารบกวนสมองอยู่ตลอด วิธีหลีกเลี่ยงคลื่นเหล่านี้ไม่ให้มารบกวนตอนพักผ่อนที่ดีที่สุดก็คือการปิดอุปกรณ์เมื่อเข้านอน

การป้องกันและรักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ทำได้อย่างไร?

       นพ.ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท กล่าวว่า ขั้นตอนแรกที่แพทย์จะทำก็คือการซักประวัติ สอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรม หรือรูปแบบการดำเนินชีวิต อาจมีการตรวจร่างกาย เจาะเลือดเพื่อหาสารเจือปน ฮอร์โมนแห่งความเครียดผิดปกติหรือไม่ หากพบว่าสาเหตุมาจากการที่ต่อมหมวกไตล้า แพทย์ก็จะแนะนำให้ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ที่ในบางคนอาจจะติดการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช โฮลวีต เพราะอาหารเหล่านี้จะช่วยทำให้น้ำตาลในเลือดสามารถรักษาระดับได้ตัวเองได้นาน รับประทานโปรตีนที่มีประโยชน์ จำพวกโปรตีนจากไข่ขาว เนื้อปลา อกไก่ เพื่อช่วยสร้างพลังงานให้กับร่างกาย รับประทานอาหารจำพวกที่เป็นไขมันดี เช่น อาโวคาโด น้ำมันมะกอก อัลมอนด์ และพยายามนอนหลับให้เพียงพอ พยายามไม่เครียดมาก อาจจะหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ หากิจกรรมเบาๆ อย่างอื่นทำ หรืออาจจะเสริมสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เช่น กลุ่มของวิตามินซี วิตามินบีรวม ปริมาณ 500 – 1000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยสามารถเลือกรับประทานจากผักผลไม้ หรืออาหารเสริมก็ได้

ในกรณีของผู้ที่มีสารโลหะหนักสะสมในร่างกายในปริมาณมากเกินค่าปกติ แพทย์ก็จะใช้วิธีการฉีดยาจำพวกกรดอะมิโนที่ช่วยดึงสารโลหะหนักออกผ่านทางปัสสาวะให้คนไข้ผ่านทางหลอดเลือด หรือจ่ายยาให้คนไข้รับประทานก่อนอาหารจากนั้นจึงจะขับสารโลหะหนักออกทางปัสสาวะ ซึ่งโดยปกติแพทย์จะจ่ายยาให้ไปรับประทาน 3 วัน จากนั้นหยุด 11 วัน และรับประทานตามนี้อีกประมาณ 4 – 6 ครั้ง

        อาการอ่อนเพลียเรื้อรังเมื่อพบสาเหตุของอาการและได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างถูกวิธี อาการเหล่านี้ก็สามารถหายขาดได้ จนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม แต่อาการเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกละเลย หรือปล่อยทิ้งไว้ หากสังเกตตัวเองได้ว่ามีอาการซึม อ่อนเพลีย เปลี้ย ไร้เรี่ยวแรง หมดกำลังใจ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการดังกล่าวส่งผลต่อชีวิตประจำวันจนประสิทธิภาพต่างๆ ของเราลดลงได้

อ่านเพิ่มเติม :

ขอขอบคุณข้อมูล : นพ.ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ
โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
ภาพประกอบ : https://content.thriveglobal.com/

อ่อนเพลียเรื้อรัง… พักผ่อนไม่พอ หรือมีสาเหตุอื่นแอบแฝง
Tagged on: