อีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวเลยก็คือ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพราะมันมักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทันที โดยที่ไม่มีอาการ หรือสัญญาณเตือนใดๆ ให้ทราบมาก่อน วันนี้ คอร์ดี้ไทย จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันค่ะ ว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง และมีอาการเป็นอย่างไร
โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมอง ได้แก่ หลอดเลือดในสมองตีบหรือตัน ส่งผลให้สมองขาดเลือด และหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในโพรงกะโหลกศีรษะ หรือเนื้อสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้
หลอดเลือดในสมองตีบหรือตันเกิดจาก 2 ปัจจัยดังนี้
- ลิ่มเลือดอุดตัน สาเหตุนี้หลอดเลือดอาจจะไม่ได้ผิดปกติ แต่มีลิ่มเลือดหลุดมาจากที่อื่น โดยเฉพาะจากหัวใจ ในกรณีที่หัวใจทำงานไม่ปกติ เช่น เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะบางชนิด หรือ ลิ้นหัวใจผิดปกติ ทำให้มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นที่หัวใจ และอาจหลุดไปอุดตันในสมอง ทำให้สมองขาดเลือดได้
- หลอดเลือดผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแข็ง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากอายุที่มากขึ้น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ การสูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้หลอดเลือดแข็ง ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งค่อยๆ อุดตันไปในที่สุด นอกจากหลอดเลือดแข็งแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่นๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดที่เป็นแต่กำเนิด หรือ โรคหลอดเลือดอักเสบ
หลอดเลือดในสมองแตกเกิดจากอะไร?
สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ เกิดจากผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง โดยมีภาวะ “ความดันโลหิตสูง” เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง เพราะแรงดันเลือดที่สูงมีส่วนทำให้ผนังหลอดเลือดเปราะ พอง และแตกง่าย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตกได้ง่าย เช่น เนื้องอก หลอดเลือดพิการผิดปกติแต่กำเนิด หรือมีพยาธิบางชนิดไชเข้าไปในหลอดเลือด แต่พบได้น้อย อีกปัจจัยหนึ่งที่พบคือผู้ป่วยที่เลือดออกง่าย เช่น เป็นโรคเลือดบางชนิด หรือการรับประทานยาบางกลุ่มที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น ยาแอสไพริน ร่วมกับการทานอาหารบางอย่างที่เสริมกัน ทำให้เลือดยิ่งออกง่ายมากขึ้น
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทันที มักไม่ค่อยมีอาการ หรือสัญญาณเตือนใดๆ มาก่อน ดูภายนอกผู้ป่วยมักจะสบายดี อาจมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูงอยู่ก่อนแล้ว สูงอายุ วันดีคืนดีก็เกิดอาการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือปากเบี้ยวขึ้นมา ซึ่งอาการจะแสดงออกมาอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเกิดปัญหาที่สมองส่วนใด เช่น หากเกิดปัญหาที่สมองซีกซ้าย ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงด้านขวา ชาครึ่งซีกด้านขวา หรือปากเบี้ยวด้านขวา เนื่องจากสมองซีกซ้ายทำหน้าที่ควบคุมร่างกายด้านขวา สมองซีกขวาทำหน้าที่ควบคุมร่างกายด้านซ้าย
นอกจากนี้หากเกิดปัญหาที่สมองซีกซ้าย ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของการใช้ภาษาร่วมด้วย เช่น พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง เนื่องจากสมองซีกซ้ายเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาด้วย
เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง มักเกิดที่สมองซีกใดซีกหนึ่ง อาการจึงเกิดขึ้นกับร่างกายด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมีได้หลายอย่างมาก เพราะสมองเป็นศูนย์ควบคุมระบบการทำงานทุกอย่างในร่างกาย อย่างไรก็ตามมี 3 อาการสำคัญที่สังเกตได้ และมักพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- อ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก (แพทย์จะทดสอบโดยให้ผู้ป่วยยกมือขึ้น ถ้ามือตกหรือยกไม่ขึ้นเลยแสดงว่า เป็นอัมพาตครึ่งซีก)
- ปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง (แพทย์จะให้ผู้ป่วยลองยิงฟันดูว่ายิ้มแล้วปากทั้งสองข้างเท่ากันหรือไม่)
- พูดผิดปกติ เช่น พูดไม่ออก ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดตะกุกตะกัก หรือพูดไม่รู้เรื่อง
เพราะฉะนั้นหากจู่ๆ มีอาการผิดปกติเหมือนดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เนื่องจากสมองของมนุษย์เราค่อนข้างบอบบาง เมื่อสมองมีภาวะขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองเพียงครู่เดียว เซลล์สมองจะเริ่มตายลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด ยิ่งรักษาเร็ว การรักษาก็จะยิ่งได้ผลที่ดียิ่งขึ้น
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง :
- ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน ความดัน หัวใจ ควรระวัง! ทานทุเรียนมากเสี่ยงอาการทรุด
- 7 สมุนไพรพื้นบ้าน – แก้เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- 8 เคล็ด(ไม่)ลับ ห่างไกลโรคเบาหวาน ความดันสูง ไตวาย
- เคล็ดลับ ลดไตรกลีเซอไรด์ ไขมันในเลือดสูง ด้วย14 วิธีง่ายๆ
- อาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง (dyslipidemia)
- 10 ประโยชน์ดีๆ ของ “ถั่งเช่า” ลดไขมัน – ต้านมะเร็ง – เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
ที่มา : ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย