โรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจ ถือเป็นภัยเงียบอันตราย ที่คอยคุกคามสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ข้อมูลว่าในปี พ.ศ. 2558 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 31 ของการตายของคนทั้งโลก ซึ่งสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2561 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 432,943 คน อัตราการเสียชีวิต 20,855 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาหารการกิน รวมถึงขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สัญญาณอันตรายโรคหัวใจ และหลอดเลือด

นพ.กำพู ฟูเฟื่องมงคลกิจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี ได้ให้ข้อมูลว่า อาการของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ และมีโอกาสจะป่วยด้วยโรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะมีอาการที่เห็นได้ชัด 2 อาการ คือ อาการเหนื่อยหอบง่าย เช่น เดิน ขึ้น-ลง บันได หรือสะพานลอย แล้วรู้สึกว่าเหนื่อยมากกว่าปกติ หรือในบางรายที่มีการการหนักมากๆ เพียงแค่นั่งอยู่เฉยๆ ก็จะรู้สึกเหนื่อย หรือมีอาการแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอาการเจ็บแน่นกลางอกร้าวไปถึงหลัง จนกระทั่งทนไม่ไหวจึงต้องมาโรงพยาบาล

โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวเมื่อไปพบแพทย์แล้ว หากตรวจพบความผิดปกติของหัวใจ ผู้ป่วยมักจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจ ซึ่งหากอายุรแพทย์โรคหัวใจทำการตรวจดูแล้ว อาการยังไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก ก็สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา เพื่อลดความรุนแรงของโรคได้ แต่เมื่อผู้ป่วยมาด้วยอาการที่รุนแรงมากๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบรุนแรง หรือลิ้นหัวใจรั่ว ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งในผู้ป่วยบางรายนั้น การผ่าตัดหัวใจทั่วไปอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจบีบตัวได้น้อย ก็มีความจำเป็นจะต้องพิจารณาเข้ารับการปลูกถ่ายหัวใจใหม่โดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป

การรับบริจาคอวัยวะ เพื่อเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ

ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัด จะถูกส่งชื่อไปยังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสากาชาดไทย เพื่อเข้าคิวรอรับอวัยวะจากผู้บริจาค โดยพิจารณาจากเนื้อเยื่อและหมู่เลือด ว่าผู้รับบริจาคและผู้บริจาค อวัยวะสามารถเข้ากันได้ดีหรือไม่ เมื่อได้รับอวัยวะจากผู้ที่มาบริจาคและสามารถเข้ากันได้ ทีมแพทย์ที่ดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีมมีหน้าที่ไปเก็บอวัยวะจากผู้บริจาค และทีมที่ทำหน้าที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อนำมาผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจต่อไป

อย่างไรก็ตามความยากของการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลา เนื่องจากทีมผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ กับทีมที่ไปเก็บอวัยวะจากผู้บริจาคตามโรงพยาบาลต่างๆ นั้น จะต้องวางแผนในการทำงานร่วมกันเพื่อแข่งกับเวลา เพราะหัวใจจะมีความแตกต่างไปจากอวัยวะส่วนอื่นๆ นั่นคือเมื่อนำหัวใจออกมาจากร่างกายของผู้บริจาคแล้ว จะมีเวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ที่จะสามารถผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหัวใจให้กับผู้รับบริจาคให้เรียบร้อย หากหัวใจถูกนำออกจากร่างกายผู้บริจาคนานเกินกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว คุณภาพของหัวใจที่ได้รับบริจาคมาจะแย่ลง และเมื่อทำการผ่าตัดหัวใจเสร็จแล้ว อาจจะทำให้หัวใจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ทั้งสองทีมจะต้องเตรียมตัวและวางแผนกันเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย

วิธีดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดฯ หลังจากเข้ารับการผ่าตัด

หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจแล้ว คนไข้ต้องเข้ารับการตรวจและติดตามการรักษาตามแพทย์นัดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิ เพื่อไม่ทำให้ร่างกายได้รับการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์จะทำการเจาะเอากล้ามเนื้อหัวใจที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไปตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูว่ามีการปฏิเสธระหว่างอวัยวะผู้บริจาคและร่างกายของผู้รับบริจากหรือไม่ หากมีการปฏิเสธกัน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับระดับยา เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายปฏิเสธหัวใจที่ปลูกถ่ายไป เพราะหากร่างกายปฏิเสธ อาจจะทำให้หัวใจทำงานได้ไม่ปกติ และอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายของผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยที่ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจสำเร็จ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากอาการที่เหนื่อยง่ายในผู้ป่วยบางราย นั่งเฉย ๆ ก็มีอาการเหนื่อย อาการดังกล่าวก็จะหายไป สามารถทำงานได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป และสามารถออกกำลังกายได้ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นและประเทศชาติได้ต่อไป

อย่างไรก็ตามโรคหัวใจเป็นปัญหาที่ทุกคนควรต้องตระหนัก และให้ความสำคัญ เนื่องจากมีอันตรายถึงชีวิต สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคหัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย อาทิเช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือโรคอื่นๆ ที่นำไปสู่โรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ไม่เครียดกับงาน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาภาวะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ เมื่อตรวจพบก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษา เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นๆ หายๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ขอขอบคุณข้อมูล :โรงพยาบาลราชวิถี
ภาพ : http://www.khonkaenram.com
เรียบเรียง : ถั่งเช่า ม.เกษตร (คอร์ดี้ไทย)

โรคหัวใจและหลอดเลือด – ภัยเงียบอันตรายที่คร่าชีวิตคนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก