โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM, Diabetes) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือมีความผิดปกติ จนทำให้น้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก หากปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะนี้เป็นเวลานานๆ จะทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ และเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้
สำหรับสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทยพบว่า คนไทยที่มีช่วงอายุ ระหว่าง 20-79 ปี เป็นโรคเบาหวานมากถึงร้อยละ 7.1 นั่นคือ ทุกๆ 100 คน จะพบคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานประมาณ 7 คน และมากกว่าครึ่งไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน สถิติการพบผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมีจำนวนมากเพิ่มมากอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนรู้ถึงภัยร้ายของโรคเรื้อรังชนิดนี้ ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนลุกลาม จนต้องสูญเสียอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) จึงได้กำหนดให้ วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้
ปัจจุบัน ประเทศไทยยึดหลักเกณฑ์ตามสมาคมเบาหวานแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา(American Diabetes. Association; ADA) ในการจำแนกผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด หลังงดอาหารและเครื่องดื่ม หากผลการตรวจพบว่าระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ในขณะเดียวกัน ระดับน้ำตาลในเลือดยังบ่งบอกถึงภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานได้ด้วย (Prediabetes) ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะเป็นเบาหวานสามารถพัฒนาการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (เบาหวานที่เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้) โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองในอนาคตได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
อาการของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติ บางรายอาจตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว อาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิดอาจมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ
1. ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก
โดยทั่วไปคนปกติมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางดึก หรือปัสสาวะอย่างมากไม่เกิน 1 ครั้ง โดยเฉพาะในเวลากลางคืนน้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติหรือมากกว่า 180 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น ในขณะเดียวกันไตไม่สามารถกรองน้ำตาลส่วนเกินกลับเข้าสู่เลือดได้ จึงทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อยและเกิดการสูญเสียน้ำ และอาจจะพบว่ามีมดตอมปัสสาวะ
2. กระหายน้ำ
เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อยครั้ง จึงจำเป็นชดเชยน้ำที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ อยากดื่มน้ำมากกว่าปกติ
3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานได้ จึงย่อยสลายส่วนที่เป็นไขมันและโปรตีนออกมา ผู้ป่วยจึงรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
4. น้ำหนักลดลงผิดปกติ
หิวบ่อย แต่น้ำหนักลดลง เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้ รวมทั้งยังไปสลายเอาไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือฮอร์โมนอินซูลินในเลือดทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์ไม่ได้รับพลังงาน ร่างกายจึงพยายามหาแหล่งอาหารมากขึ้นโดยการส่งสัญญาณออกมาทางอาการหิว
5. คันตามผิวหนัง
มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคันเนื่องจากผิวแห้งไป หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
6. เห็นภาพไม่ชัด สายตาพร่ามัว ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อยครั้ง
เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลนส์ตา จนจอตามีความผิดปกติ หรือมีระดับน้ำตาลสูงมาเป็นระยะเวลานานจนเกิดความผิดปกติของจอตา ในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีปัญหาสายตาระยะยาวถึงขั้นตาบอด
7. มีอาการชา ไม่มีความรู้สึก โดยเฉพาะมือและขา หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ ทำให้เส้นประสาทเสื่อมสภาพ เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึก
8. อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดได้เช่น การติดเชื้อ แผลหายช้า คัน อาเจียน
สาเหตุของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
1. กรรมพันธุ์
เบาหวานมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่ง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง อาทิเช่นพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นเบาหวานก็ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเบาหวานทุกราย ทั้งนี้ขึ้นกับการควบคุมดูแลปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น
2. โรคอ้วน
คนที่เป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานสูงถึงร้อยละ 80 เนื่องจากไขมันส่วนเกินจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ประสิทธิภาพในการจัดการกับน้ำตาลและไขมันลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ในที่สุด
3. ผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของตับอ่อนจะลดลง ทำให้การสังเคราะห์และการหลั่งอินซูลินลดลง
4. โรคของตับอ่อน
เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง จากการดื่มเหล้า ยา หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
5. การติดเชื้อไวรัสบางชนิดเมื่อยังเป็นเด็ก
เช่น คางทูม หัด หัดเยอรมัน โดยพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ป่วย
6. การได้รับยาบางชนิด
เช่น สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาขับปัสสาวะ ซึ่งยาเหล่านี้ทำให้การตอบสนองของอินซูลินแย่ลง และทำให้มีการสร้างน้ำตาลที่ตับมากขึ้น
7. การตั้งครรภ์
เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีการฮอร์โมนจากรก ซึ่งมีผลต่อต้านการทำงานของอินซูลิน
โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
- เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้
- เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากภาวะการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) หรือเกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
- เบาหวานจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้ยา หรือเกิดจากโรคชนิดอื่น
- การรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกายด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่กับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- การรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 หากเริ่มเป็นในระยะแรกๆ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ควบ
คุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และ หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วยหรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 - สำหรับผู้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมทั้งควบคุมอาหารที่รับประทาน และออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
การป้องกันโรคเบาหวาน
หัวใจสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ ต้องคอยหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูง และมีสารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงการการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นสตรีมีครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอและได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานหากมีความเสี่ยง เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบโรคเบาหวานได้ในระหว่างการตั้งครรภ์