– ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 180/110 มม.ปรอท นั้นถือว่ามีความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง และสำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้คงที่ได้แม้จะได้รับการรักษาแล้ว อาจต้องงดการมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้แรงมาก เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
– ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อาจจะต้องคำนึงถึงระยะความถี่ของการมีเซ็กส์ และไม่ควรเกิน 2 – 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ และควรใช้เพียงท่ามาตรฐานเท่านั้น
– การพูดคุยและปรึกษาแพทย์ถึงผลกระทบที่มาจากยารักษาโรคความดันโลหิตสูง และการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สามารถช่วยป้องกันปัญหาหัวใจวายเฉียบพลันขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
ในหลายๆครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ผู้รับสารมักจะมุ่งประเด็นไปที่ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงแต่จากรายงานของวารสารโรคหัวใจอเมริกัน (American Journal of Cardiology) พบว่าการออกแรงในกิจกรรมทางเพศมีผลให้หัวใจวายน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของอาการหัวใจวายทั้งหมด และสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) ยังยืนยันอีกว่าคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาโรคหัวใจสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงผู้ที่มีความดันโลหิตสูงอีกด้วย
อย่างไรก็ดีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง หรือผู้ที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้คงที่ได้แม้จะได้รับการรักษาแล้ว แพทย์อาจขอให้งดการมีเพศสัมพันธ์หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้แรงมาก เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
ความดันโลหิตสูงกับสมรรถภาพทางเพศ
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คือผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท และผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 180/110 มม.ปรอท ถูกจัดว่ามีความดันโลหิตสูงในขั้นรุนแรง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางเพศของทั้งฝ่ายหญิงและชายอีกด้วย
สำหรับผู้ชายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หากไม่ได้รับการรักษา เยื่อบุหลอดเลือดอาจถูกทำลายได้ ส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและแคบ เลือดจึงไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้น้อยลง ไม่สามารถรักษาความแข็งตัวของอวัยวะเพศไว้ได้นาน ก่อให้เกิดปัญหาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อีกทั้งโรคความดันโลหิตสูงยังไปรบกวนการหลั่งและลดความต้องการทางเพศอีกด้วย โดยปัญหาเหล่านี้อาจทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคู่นอนได้
ในเพศหญิง จะพบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรื่องการถึงจุดสุดยอด อีกทั้งต้องทนต่อความเจ็บปวดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์อันเนื่องมาจากความดันโลหิตสูง มีผลทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังช่องคลอดลดน้อยลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง
ยาความดันโลหิตสูงกับผลกระทบเรื่องเพศ
การรักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วยยา ถึงแม้จะส่งผลดีต่อหัวใจแต่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตเพศสัมพันธ์ได้ จากรายงานของ เมโยคลินิก (Mayo Clinic) พบว่ายาลดความดันโลหิตและยาขับปัสสาวะบางประเภทอาจก่อให้เกิดปัญหาทางเพศ โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้ยาที่เป็นเพศชายที่มีการใช้ยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นเหตุสำคัญที่ผู้ป่วยควรจะบอกแพทย์ที่ทำการรักษาถึงยาที่ตนเองรับประทานเป็นประจำ และหากพบปัญหาทางเพศหลังรับประทานยาลดความดันควรบอกแพทย์ทันที
ในทางตรงกันข้าม ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางประเภทอาจช่วยเพิ่มความรื่นรมย์ทางเพศ โดยมีผลทำให้ผู้ป่วยมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศมากยิ่งขึ้น และมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งขึ้นหลังรับประทานยาชนิดดังกล่าว
ทั้งนี้ไม่ว่าแพทย์สั่งยาชนิดใดก็ตามให้ผู้ป่วย การบอกอาการข้างเคียงหลังทานยา และการรับประทานยาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำแพทย์ ก็สามารถลดผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์และปัญหาอื่นๆ ได้
ความดันโลหิตสูงก็มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยได้
ในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตไม่สูงมาก กิจกรรมทางเพศสามารถมีได้ตามปกติ แต่ต้องระมัดระวังไม่ควรหักโหมหรือรุนแรงเกินไป เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์จะส่งผลให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จนอาจเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่ความดันโลหิตสูงมาก หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ควรต้องคำนึงถึงความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรเกิน 2 – 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ และควรใช้เพียงท่ามาตรฐานเท่านั้น
การเกิดภาวะหัวใจวายไม่ได้มีเพียงสาเหตุที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น บางคนอาจหัวใจวายขณะดูหนัง ขับรถ ตื่นเต้น หรือแม้กระทั่งในตอนที่กำลังอาบน้ำ ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ความกลัวมารบกวนการมีเพศสัมพันธ์ วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันปัญหาภาวะสมรรถภาพทางเพศเสื่อมและหัวใจวายขณะมีเพศสัมพันธ์คือการพูดคุยและขอคำปรึกษาจากแพทย์ถึงผลกระทบต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะจะทำให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัย และการมีเพศสัมพันธ์ที่ดีและมีความสุขยังส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจอีกด้วย
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : นพ. ประพนธ์ ดิษฐ์รุ่งโรจน์ แพทย์ผู้ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์, sanook.com
ภาพ : iStock