โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น ในขณะที่คนปกติจะไม่เกิดอาการ
โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น ซึ่งพยาธิสภาพนั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ในร่างกายที่ทำงาน มากเกินไปทำให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆ มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เช่น
- ถ้าเป็นที่ตา เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง เคืองและคันตา แสบตา น้ำตาไหล หนังตาบวม
- ถ้าเป็นที่จมูก เรียกว่า โรคแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คันจมูก คันเพดานปากหรือคอ
- ถ้าเป็นที่หลอดลม เรียกว่า โรคหอบหืด (asthma) หรือ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกหายใจขัด หายใจเร็วหรือหายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด โดยเฉพาะเวลาตอนเช้ามืด ตอนกลางคืน หรือในขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด
- ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผู้ป่วยจะมีผดผื่นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีอาการคัน มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่ ในเด็กเล็ก มักเป็นที่ แก้ม, ข้อศอก, หัวเข่า และ ก้น สำหรับในเด็กโตมักเป็นที่ข้อพับของขาและแขน ในรายที่มีอาการเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณที่เป็นจะมีสีคล้ำขึ้น และหนาขึ้น นอกจากนั้นผิวหนังอาจเกิดการอักเสบจากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น เครื่องสำอาง, ผงซักฟอก รวมถึงผิวหนังอาจเกิดการอักเสบเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า “ลมพิษ” ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรือ แพ้ยา หรือแพ้แมลงกัดต่อย
- ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร (food allergy) ผู้ป่วยจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด ปากบวม อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ (เช่น แพ้อากาศ, หอบหืด) และผิวหนัง (เช่น ลมพิษ, ผื่นคัน) ร่วมด้วย อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ ไข่, นมวัว, ถั่ว, อาหารทะเล, ผักและผลไม้บางชนิด, สารแต่งกลิ่นและสี, สารกันบูด, ผงชูรส
การรักษาโรคภูมิแพ้ มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน คือ
1. การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ กำจัด หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ อาจใช้วิธีสังเกตว่า อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน สัมผัสกับอะไร หรือรับประทานอะไรแล้วเกิดอาการ ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด
2. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่างๆ ได้ 100% อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อเราสามารถดูแลตัวเอง รวมถึงควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้นแล้ว ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy) เป็นการรักษาโดยใช้วิธีฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย หลังจากนั้น ค่อยๆ เพิ่มปริมาณ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก และไม่สามารถใช้ยาควบคุมอาการได้ หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย
4. การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งทำการรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ผนังกั้นช่องจมูกคด
เมื่อเกิดปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ สารเคมีสำคัญที่หลั่งออกมา คือ ฮีสตามีน (histamine) ซึ่งจะทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคภูมิแพ้ ยาต้านฮีสตามีน จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ ฮีสตามีน จับตัวกับ ตัวรับฮีสตามีน (histamine receptor) ที่อวัยวะต่างๆ จึงสามารถบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้
ยาต้านฮีสตามีน แบ่งเป็น
1. ยาต้านฮีสตามีนชนิดกิน (oral H1-antihistamine) มี 3 รุ่น
1.1) ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 1 (first generation antihistamine) เช่นยา diphenhydramine, chlorpheniramine, hydroxyzine, cyproheptadine ยากลุ่มนี้ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการง่วงซึม จึงไม่ควรใช้กับผู้ขับขี่รถยนต์ เครื่องบิน เรือ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยากดประสาทชนิดอื่นๆ เช่น ยากล่อมประสาท, ยาคลายเครียด, ยานอนหลับ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า,เบียร์) นอกจากนั้นยาชนิดนี้จะมีฤทธิ์ในการต้านระบบประสาทชนิดโคลเนอร์จิก (anticholinergic) ด้วย ทำให้มีอาการปัสสาวะขัดในผู้ชาย ท้องผูก คอแห้ง ปากแห้ง น้ำมูกและเสมหะเหนียวข้น ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วย โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต และโรคหืด โดยเฉพาะขณะมีอาการหอบ
1.2) ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2 (second generation antihistamine) เป็นการพัฒนายาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก เช่น
terfenadine พัฒนามาจาก chlorpheniramine
loratadine พัฒนามาจาก cyproheptadine
astemizole พัฒนามาจาก diphenhydramine
cetirizine พัฒนามาจาก hydroxyzine
ยา astemizole และ terfenadine มีปัญหาต่อระบบหัวใจ จึงได้ถอนทะเบียนออกไป ยากลุ่มนี้มีข้อดีกว่า ยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก คือ ออกฤทธิ์ได้นาน และ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ เพราะจับกับตัวรับฮีสตามีนได้แน่นและนานขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก
1.3) ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 3 (third generation antihistamine) เป็นยาต้านฮีสตามีนรุ่นใหม่ซึ่งพัฒนามาจากยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2 เช่น
fexofenadine พัฒนามาจาก terfenadine
levocetirizine พัฒนามาจาก cetirizine
desloratadine พัฒนามาจาก loratadine
ยากลุ่มนี้มีข้อดีกว่า ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มอื่นๆคือ
– ไม่รบกวนการทำงานของตับ เพราะตัวยาเป็นตัวที่สามารถออกฤทธิ์ (active metabolite) ได้เลย
– มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี
– ยาออกฤทธิ์ได้นาน จึงใช้เพียงวันละครั้งเพราะจับกับตัวรับฮีสตามีนได้แน่น และนานขึ้น
– เจาะจงเฉพาะกับตัวรับฮีสตามีน ชนิด H1 (histamine H1 ? receptor) เท่านั้น จึงใช้ปริมาณยาน้อยลง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ใช้ยาต้านฮีสตามีนรุ่นที่ 2 หรือ มากกว่ายาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก สำหรับผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ยาต้านฮีสตามีน ได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากฮีสตามีนเช่น คัน, จาม, น้ำมูกไหล,คัน เคืองตา แต่ได้ผลน้อยกับอาการคัดจมูก นอกจากนั้น ยาต้านฮีสตามีนยังช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ดีขึ้นด้วย การใช้ยาต้านฮีสตามีนในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในเด็กนั้นได้ผลดีและปลอดภัย
2. ยาต้านฮีสตามีนชนิดเฉพาะที่ (topical H1-antihistamine) ยาต้านฮีสตามีนชนิดพ่นจมูก มีประสิทธิภาพดีในการบรรเทาอาการคัน, จาม , คัดจมูก, น้ำมูกไหล และผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะทนต่อยาได้ดี ยาต้านฮีสตามีนชนิดหยอดตามีประสิทธิภาพดีเช่นกันในการบรรเทาอาการคัน, เคืองตา, น้ำตาไหล, แสบตา แต่ยาต้านฮีสตามีนชนิดพ่นจมูกดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ทางตาเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านฮีสตามีนชนิดกิน ข้อดีของยาต้านฮีสตามีนชนิดเฉพาะที่คือ สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการทางจมูกและตาได้เร็ว (ภายใน 30 นาที) ปัจจุบันยาต้านฮีสตามีนชนิดพ่นจมูกไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
3. ยาต้านฮีสตามีนผสมกับยาหดหลอดเลือด (H1- antihistamine + decongestant) จุดประสงค์ของการผสมยาทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน คือ ใช้ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งยาต้านฮีสตามีนมีฤทธิ์ดังกล่าวน้อย นอกจากนั้น ถ้ายาต้านฮีสตามีนชนิดที่ผสมกันเป็นชนิดที่ทำให้ง่วง ยาหดหลอดเลือดอาจช่วยลดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ ยาผสมชนิดนี้สามารถให้ได้ หากผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการคัน, จาม, น้ำมูกไหล ร่วมกับอาการคัดจมูก และมีรายงานว่าสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ดี ข้อดีคือไม่ต้องสั่งยาทั้ง สองชนิด (คือ ยาหดหลอดเลือดและยาต้านฮีสตามีน ) ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งจะเพิ่มความร่วมมือ (compliance) ของผู้ป่วยในการกิน
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง :
ทำไม “ถั่งเช่า” จึงเหมาะสำหรับ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ, หอบหืด
ขอขอบคุณข้อมูล : รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาพประกอบ : therockspa.com