PM 2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เพียงแต่แพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย แต่ยังทำร้ายหัวใจได้รุนแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และหัวใจวาย (Heart Attack) เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวัง คือการหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้หัวใจของเราแข็งแรงไปอีกนาน
นายแพทย์ ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หรือฝุ่นในอากาศถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ระบุว่า มากกว่า 20% ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีสาเหตุสำคัญมาจากมลพิษทางอากาศ และทุกๆ ปี มีคนเสียชีวิตมากกว่า 3 ล้านคน โดยองค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า หากในอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 10 – 25 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรแล้วร่างกายได้รับเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ และส่งผลเสียต่อการแข็งตัวของเลือด, การทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ, โรคปอด และโรคมะเร็ง
ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจ
หากเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันจะส่งผลให้เส้นเลือดเปราะ เส้นเลือดแตก และในผู้ป่วยโรคหัวใจ ฝุ่น PM 2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก นี้ จะเข้าไปกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่แล้วมีความรุนแรงขึ้น สำหรับในระยะยาวผลกระทบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ จะไปกระตุ้นการอักเสบทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดหนาตัวมากขึ้น กล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดเติบโตขึ้น มีอันตรายต่อร่างกายเทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ ในอนาคตคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
จากข้อมูลของสมาคมโรคหลอดเลือดหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology – ESC) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตในยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 800,000 คน/ปี ด้วยวิธีการใหม่ของแบบจำลองผลกระทบที่หลากหลายของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต พบว่า 40 – 80% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ(CVD) เช่น หลอดเลือดสมอง และหัวใจวาย นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า มลพิษทางอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 8.8 ล้านราย มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5 ล้านคน นั่นหมายถึงในแต่ละปีมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ แต่มลพิษทางอากาศไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายและเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวาน, หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลวในอัตราที่สูงขึ้น
วิธีป้องกันหัวใจจากฝุ่น PM 2.5
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีฝุ่น PM 2.5
- ใช้ผ้าปิดจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย
- ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ
- ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
- หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ทั้งนี้ นายแพทย์ ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อยากให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับหัวใจ เมื่อร่างกายได้รับในปริมาณมาก จะข้าไปทำลายหลอดเลือด และเยื่อบุหลอดเลือด รวมถึงเร่งการแข็งตัวของหลอดเลือด เร่งความเปราะของหลอดเลือดให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจล้มเหลว ดังนั้นการป้องกันตัวเองคือสิ่งสำคัญ แม้ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมีหลายข้อ แต่มลพิษทางอากาศคืออีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากมีอาการผิดปกติควรเข้ามาพบแพทย์ทันที และหากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปี
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : นายแพทย์ ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ, sanook.com
ภาพ : pobpad.com