“เวียนศีรษะ” เป็นอาการที่พบได้ในผู้คนหลากหลายช่วงวัย โดยจะมีลักษณะอาการคือ มึนหัว มึนงง รู้สึกเหมือนตัวลอย โคลงเคลง ไม่มั่นคง หรือที่เรียกกันว่า “อาการบ้านหมุน” อาการที่ว่ามานี้ยังรวมถึงอาการหน้ามืดร่วมด้วย แม้ว่าอาการเวียนศีรษะสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มช่วงวัยที่ถูกพบว่ามีอาการนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มผู้สูงอายุ อาการเวียนศีรษะหลายคนอาจมองว่าเป็นอาการธรรมดา ที่พบได้ทั่วไป ใครๆ ก็เป็นกันได้ แต่ในบางครั้งอาการเวียนศีรษะก็อาจจะเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นให้ทราบถึงโรคภัยอื่นๆ ที่ยังคงไม่แสดงอาการก็เป็นได้
ทำไมถึงรู้สึกเวียนศีรษะ ?
แพทย์หญิง ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับอาการเวียนศีรษะไว้ว่า อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงการที่รู้สึกสมองตื้อ ไม่แจ่มใส เหมือนมีเมฆหมอกบางๆ มาปกคลุม ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น การได้ยิน และการทรงตัวยังลดลงอีกด้วย ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของอาการเหล่านี้มาจาก
- ระบบประสาทรับภาพของตา (หรือระบบประสาทเคลื่อนไหวลูกนัยน์ตา) ทำงานไม่สัมพันธ์กับสภาพที่เคลื่อนตัวเร็ว เช่น การมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่เร็วๆ หรือในขณะที่รถกำลังวิ่งเร็ว
- ระบบประสาทรับสัมผัสจากระบบต่าง ๆ ไม่เป็นปกติ เช่น การยืนอยู่บนตึกที่สูงมาก หรือเกิดภาวะกลัวความสูง
- ระบบรับสัญญาณประสาทของสมองส่วนกลาง เช่น ประสาทส่วนกลางถูกกดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การทานยานอนหลับ ดื่มสุรา การมีภาวะความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัว หรือการมีโรคทางกายที่มีผลต่อสมอง เช่น ภาวะขาดสารอาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ โรคหัวใจ โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
ลักษณะอาการจะขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น
แพทย์หญิง ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปกติแล้วการทรงตัวของมนุษย์จะเกิดจากการทำงานประสานกันของอวัยวะ 3 ส่วน คือสายตา ระบบประสาทหูชั้นใน และประสาทรับความรู้สึก ซึ่งจะมีสมองเป็นศูนย์กลางการสั่งการ และควบคุมการทำงานต่างๆ ให้เกิดความสมดุล เช่น เมื่อเราเดินบนถนน สายตาเราจะมองภาพต่างๆ รอบตัวเพื่อเก็บเป็นข้อมูลแล้วส่งให้กับสมองว่าควรจะเคลื่อนที่อย่างไร จากนั้นระบบประสาทรับความรู้สึกจะรู้ว่าขาได้เคลื่อนที่ออกไป และระบบประสาทหูชั้นในจะคอยปรับสภาพการทรงตัวให้มีความพอดีกับแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้ไม่เดินเซไปมา จะเห็นได้ว่าทุกอย่างจะทำงานสัมพันธ์กัน แต่หากว่าไม่สามารถรักษาความสมดุลให้คงที่อีกต่อไปได้ ก็จะทำให้เกิดอาการ “เวียนศีรษะ” หรือ “บ้านหมุน” โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีอาการมึนหัว คือ มีอาการเวียนหัวเพียงอย่างเดียว ไม่รู้สึกมึนงง หน้ามืด ไม่มีอาการบ้านหมุนหรือสิ่งรอบตัวหมุน หรือรู้สึกวูบได้ง่าย กลุ่มของอาการเหล่านี้จะเกิดจากปริมาณและแรงดันเลือดที่ส่งไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ซึ่งจะพบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุหรือคนที่มีภาวะโรคประจำตัวที่มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน และหากไม่ได้รับการรักษาอาการเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
2. กลุ่มที่มีอาการหลอนของการเคลื่อนไหว ในกลุ่มของผู้ที่มีอาการนี้จะมีความรู้สึกว่าทุกสิ่งรอบตัวหมุนในขณะที่ตัวเรายังอยู่นิ่ง คล้ายกับอาการของคนเมาสุรา เสียการทรงตัว เดินไม่สะดวก อีกทั้งยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการเวียนหัวกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบประสาทหูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมสมดุลต่างๆ ในร่างกายและการทรงตัว โรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ยกตัวอย่างเช่น โรคแรงดันน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน โรคนิ่วในหูชั้นใน หรืออาจมีการติดเชื้อลึกเข้าไปหูชั้นใน เป็นต้น โดยแพทย์จะเรียกอาการในกลุ่มนี้ว่า Vertigo
5 โรคสำคัญ สาเหตุของอาการเวียนหัว
1. โรคหินปูนในหูชั้นใน หรือ BPPV โดยโรคนี้จะเกิดจากการเสื่อมของหูชั้นใน จะพบมากในกลุ่มของผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้ก็คือ อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงท่าทางของศีรษะ (ระหว่างก้มตัวหยิบของ หรือล้มตัวนอน) ซึ่งจะมีอาการเป็นระยะเวลาสั้นๆ แค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ แล้วอาการจะค่อยๆ หายไป แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะมีอาการเป็นซ้ำเกือบทุกวัน แต่จะไม่มีอาการหูอื้อ ได้ยินเสียงผิดปกติในหู หรือสูญเสียการได้ยิน อีกทั้งยังไม่มีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น อ่อนแรง แขนขาชา อีกด้วย
2. โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน จะเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว มีอาการปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่ในบางครั้งแทนที่จะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ในบางคนอาจมีอาการเวียนศีรษะแทน โดยอาการมักจะเป็นๆ หายๆ สลับกันไป และเมื่อเกิดอาการขึ้นประสิทธิภาพในการได้ยินจะลดลง เกิดอาการหูอื้อ แพ้แสงจ้า หรือเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากมีลักษณะอาการหูอื้อเหมือนกัน
3. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคนี้จะเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทหูชั้นใน ซึ่งจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนและสูญเสียการทรงตัว เดินเซหรือล้มง่าย ซึ่งโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยต้องไม่ขยับร่างกาย อยู่นิ่งๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้
4. โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต การที่มีภาวะโลหิตจาง น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือโรคความดันโลหิตสูง แล้วต้องรับประทานยาลดความดันโลหิตหลายประเภท จะส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ ทำให้เลือดไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด หรือเป็นลมตามมา
5. โรคที่เกิดจากความเครียด หรือโรคทางจิตเวช โรคเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรงเมื่ออยู่ในที่แคบ โล่ง สูง หรือในที่ชุมชน แต่อาการจะหายไปเมื่อไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อผู้ป่วยมีอาการเครียดเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดอาการหายใจเร็วกว่าปกติมาก (Hyperventi lation syndrome) ทำให้หายใจไม่อิ่ม มือจีบเกร็ง หรือมือเท้าชาและเย็น เวียนศีรษะ และแน่นหน้าอกร่วมด้วย
คำถามสำคัญเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการเวียนหัว
หลายอาจจะกังวลและเริ่มสงสัยว่าอาการเวียนศีรษะที่ตนเองเป็นนั้น จะส่งผลอะไรมากไปกว่าที่อาการแสดงออกมาหรือเปล่า ทาง แพทย์หญิง ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 ก็ได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อมีอาการก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษา และรับการวินิจฉัยโรค เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุดมากที่สุด โดยคำถามสำคัญที่จะต้องถามเพื่อนำสืบไปหาต้นตอของปัญหาอาการเหล่านี้ก็คือ
• ลักษณะของอาการเวียนหัว มึนหัว
1. อาการเวียนศีรษะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนท่าอย่างกะทันหันหรือไม่ เช่น นั่งแล้วนอน หรือการเปลี่ยนจากนอนเป็นท่านั่ง การหันหน้า
2. ความถี่และความรุนแรงของอาการเวียนศีรษะ มึนศีรษะ
• รู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุน หรือตัวเองหมุนรอบสิ่งต่างๆ หรือไม่
1. ระยะเวลาที่เกิดอาการดังกล่าว
2. เวียนศีรษะ หรือมึนศีรษะบ่อยแค่ไหน
3. อาการดังกล่าวจะมีอาการนานแค่ไหน
4. มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่หลังจากเกิดอาการเวียนศีรษะ
5. คลื่นไส้อาเจียน
6. ความเครียด
7. มีเสียงดังในหู
8. หน้ามืดหรือเป็นลมหมดสติ
9. ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนศีรษะ
10. ปัจจัยที่ทำให้หายจากอาการเวียนศีรษะ มึนศีรษะ
เทคนิคนี้ช่วยได้ หากเกิดอาการ “บ้านหมุน”
บริหารศีรษะ
1. หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ทำช้าๆ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความเร็ว ทำ 20 ครั้ง ควรทำขณะหลับตา
2. ก้มศีรษะไปข้างหน้าแล้วแหงนไปข้างหลัง ทำช้าๆ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มความเร็ว ทำ 20 ครั้ง ควรทำขณะลืมตา
บริหารตา
1. มองขึ้นบนแล้วมองลงล่าง ค่อยๆ ทำช้าๆ จากนั้นจึงเพิ่มความเร็วขึ้น ทำ 20 ครั้ง
2. เหยียดแขนไปข้างหน้าสุดแขน แล้วใช้สายตาจ้องนิ้วชี้เอาไว้ จากนั้นค่อยๆ เลื่อนกลับมาที่เดิมช้าๆ ทำประมาณนี้ 20 ครั้ง
3. กลอกตาจากซ้ายไปขวา ให้เริ่มต้นทำช้าๆ ทำทั้งหมด 20 ครั้ง
บริหารในท่านั่ง
1. ยกไหล่ขึ้นลง 20 ครั้ง ขณะนั่ง
2. หันไหล่ไปทางขวา และซ้ายสลับกัน ทำ 20 ครั้ง
3. ก้มตัวไปข้างหน้าแล้วหยิบของจากพื้นช้าๆ แล้วค่อยๆ ดึงตัวกลับมานั่งตรง ทำซ้ำ 20 ครั้ง
การเคลื่อนไหว
1. เดินขึ้นลงบันได ขณะลืมตา 10 ครั้ง ขณะหลับตาอีก 10 ครั้ง
2. โยนลูกบอลยางเล็กๆ โดยโยนจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง ต้องโยนให้สูงเหนือระดับตา ทำอย่างน้อย 10 ครั้ง
โรคเวียนศีรษะควรที่จะได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา โดยหาสาเหตุได้จากการซักประวัติ เข้าตรวจร่างกายและการวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อรับการรักษาอาการเหล่านี้ หรือโรคนี้ให้หายขาด
ขอขอบคุณข้อมูล
พญ.ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา
โรงพยาบาลพญาไท 2
ภาพประกอบ : รพ.ราชวิถี