ทุกคนสามารถเป็นโรคปอดติดเชื้อได้เหมือนกัน เพียงแต่จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และเมื่อเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรง
กลุ่มเสี่ยงโรคปอดติดเชื้อ
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยเรื้อรัง
- ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติ
สาเหตุของโรคปอดติดเชื้อ
- แบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตคอคคัส เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปอดติดเชื้อ
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่
- เชื้อรา โดยทั่วไปคนปกติจะไม่ติดเชื้อที่ปอดจากเชื้อรา ยกเว้นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV
อาการปอดติดเชื้อ
- มีอาการหอบ เหนื่อย เนื่องจากปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีพอ
- ไอ มีเสมหะ เนื่องจากมีการอักเสบของถุงลมและหลอดลมภายในปอด
- มีอาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าออกลึกๆ
- ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการซึม ช็อก รวมถึงติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โรคปอดติดเชื้อรักษาหายหรือไม่?
โรคปอดติดเชื้อสามารถรักษาได้ การรักษาหลักๆ จะเป็นการให้ยาต้านจุลชีพ ขึ้นอยู่กับว่า ปอดติดเชื้ออะไรแพทย์ก็จะให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาไม่ตรงกับเชื้อ ทำให้เกิดการแพ้ยา หรือดื้อยา
เราจะป้องกันปอดติดเชื้อได้อย่างไร
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนแออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาด
- สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดติดเชื้อในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
ขอขอบคุณข้อมูล
รศ.ดร.นพ.เมธี ชยะกุลคีรี
ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคติดเชื้อฯ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : kapook.com