ความดัน

ในอดีตอาชีพของคนไทยส่วนใหญ่ คือ “เกษตรกร” ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย กินอยู่อย่างไทย ทำให้อัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ในปัจจุบันความเจริญทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยเกิดความเครียด ส่งผลให้สถิติการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น โดยปกติ ค่าของความดันโลหิตมี 2 ตัว คือตัวบนและตัวล่าง กล่าวคือ ค่าความดันปกติตัวบนประมาณ 120-130 ความดันตัวล่างประมาณ 70-80 บางคนไปตรวจหมอบอกว่าความดันต่ำ ซึ่งจริงๆ แล้วความดันต่ำไม่ถือว่าเป็นโรค ความดันยิ่งต่ำยิ่งดี ซึ่งมักพบในคนตัวเล็กหรือนักกีฬา แต่ในกรณีผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วเกิดอาการช็อก ความดันต่ำลงจะถือว่าอยู่ในภาวะอันตราย  ค่าของความดันตัวบนหากสูงเกินกว่า 140 ถือว่า ความดันสูงกว่าปกติ

คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหลโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ไม่เป็นไข้ ไม่เป็นหวัด หรือบางคนอาจมีภาวะความดันโลหิตสูงโดยไม่แสดงอาการ ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดหรือกรรมพันธุ์ เมื่อเป็นแล้วจำเป็นต้องได้รับการรักษาถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม การรักษาโดยการทานยา ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษามีหลายชนิด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะสมกับอาการของคนไข้แต่ละราย การรักษาความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน หากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลแทรกซ้อนต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำให้เกิดโรคอื่นตามมาอีกมากมาย เช่น

สมอง   อาจทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกได้ ทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

หัวใจ  อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการเจ็บหน้าอกและมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหากหลอดเลือดที่หัวใจอุดตัน เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

ไต  ไตมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดง หากไตเสื่อมก็จะส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนลดน้อยลง หากเป็นโรคความดันโลหิตสูงมานาน ก็จะทำให้หลอดเลือดเสื่อมทั่วร่างกาย ทำให้คนไข้มีอาการซีด เหนื่อยง่าย ขาบวม และอาจเกิดภาวะไตวายได้

– ตา  ตาจะพร่ามัว สำหรับความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์จะมีอันตรายทั้งต่อแม่และเด็ก อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือชักได้ เพราะฉะนั้นหญิงมีครรภ์ควรมีการฝากท้อง ซึ่งจะต้องได้รับการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มาตรวจ

 
โรคความดันโลหิตสูงมี 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ไม่ทราบสาเหตุ และทราบสาเหตุ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 35 ปีขึ้นไป ถ้าเกิดในคนที่อายุน้อยมักจะทราบสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุ  อาการที่พบมีดังนี้ ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย ได้ยินเสียงดังในหู  มีอาการวิงเวียนศีรษะ มีเลือดกำเดาออก การเต้นของชีพจรจะผิดปกติ ขาบวม หงุดหงิดง่าย เหนื่อยง่ายผิดปกติ เป็นต้น

มากกว่า 95% ของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักไม่ทราบสาเหตุ จึงโทษว่าเป็นเรื่องของพันธุกรรม ถ้าพ่อหรือแม่เป็นความดันโลหิตสูง ลูกก็มีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่พ่อแม่ไม่เป็นความดันโลหิตสูง ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ ความเครียด การรับประทานอาหารเค็ม ไม่ออกกำลังกาย การรักษาจึงต้องควบคุมโดยการใช้ยาและต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต

สำหรับโรคความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ  เช่น ความดันในกะโหลกศีรษะสูง เนื่องมาจากมีเนื้องอกในสมอง ทำให้ปวดศีรษะตาพร่ามัวได้ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนจะทำให้ความดันสูงได้ หากได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก ความดันในกะโหลกศีรษะไม่สูงแล้ว ความดันก็จะลดลงสู่เกณฑ์ปกติ โรคไต ไตวายเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาได้ นอกจากวิธีผ่าตัดเปลี่ยนไต อย่างไรก็ตามความดันโลหิตสูงอาจเกิดจากการรับประทานยาที่ทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้เช่นกัน เช่น รับประทานยาแก้ปวดไขข้อ ยาลดน้ำมูกที่ออกฤทธิ์แรงๆ ยาคุมกำเนิดที่รับประทานมานานมากกว่า 2 ปี ฯลฯ เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง 

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจความดันโลหิตทุกปี และควรระวังสาเหตุที่เสริมให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ เช่น ความเครียด คนที่โมโหง่าย คนที่ชอบรับประทานเค็ม คนอ้วน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาเป็นประจำ ทั้งนี้อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้  และควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์นายแพทย์พีระ  บูรณะกิจเจริญ 
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เรียบเรียงโดย ถั่งเช่า ม.เกษตร (คอร์ดี้ไทย)

ระวัง!!! โรคแทรกซ้อนจากภาวะความดันโลหิตสูง