แม้วัยทำงาน จะเป็นวัยที่อยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว อย่างไรก็ตามสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตรวมถึงรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน ทำให้คนทำงานทั้งหลายต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จนทำให้มีสารพัดโรคตามมา วันนี้ คอร์ดี้ไทย ขอพาทุกท่านไปตรวจสอบกันว่า มีโรคร้ายอะไรบ้างที่มักเกิดกับคนทำงานออฟฟิศแบบไม่รู้ตัว
1. โรคกรดไหลย้อน
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เกิดจากการทานอาหารไม่ตรงเวลา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ความเครียดสะสม สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าหนัก และหากคุณเป็นโรคกรดไหลย้อนแบบเรื้อรัง ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหลอดอาหารส่วนปลายได้
2. โรคอ้วน
ปัจจุบันพบว่า “โรคอ้วน” พบมากขึ้นในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบทำงานไป ทานอาหารไป หรือต้องนั่งทำงานแบบติดเก้าอี้ และยิ่งไม่ชอบออกกำลังกาย ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญโรคอ้วนยังเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายแรงอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ฉะนั้น วิธีป้องกันโรคอ้วนที่ดีที่สุด คือการที่เราหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. โรคความดันโลหิตสูง
“โรคความดันโลหิตสูง” เปรียบเสมือนภัยเงียบที่คุณจะรู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้ ก็ต่อเมื่อร่างกายส่งสัญญาณเตือน ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อาจเกิดจากความเครียด ทานอาหารที่มีรสเค็ม โรคอ้วน ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ และหากคุณต้องนั่งทำงานอยู่ในสำนักงาน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง มากกว่าผู้ที่ทำงานใช้กำลัง
ที่สำคัญ โรคความดันโลหิตสูงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่เกี่ยวกับความดันเท่านั้น เพราะความร้ายแรงของโรคนี้ อาจนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดแตก ไตวาย หัวใจวาย อัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้
4. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ในบางครั้ง คุณอาจตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ จะด้วยเห็นผลใดก็แล้วแต่ ทั้งแบบติดงานด่วนจริงๆ หรือคิดไปเองว่า งานที่ทำอยู่รอไม่ได้ (แต่ห้องน้ำรอได้) แต่รู้หรือไม่ว่า การกลั้นปัสสาวะนานๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ และหากคุณกลั้นปัสสาวะจนมีความรู้สึกว่าหายปวด นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณอาจกำลังเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
5. โรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
ผู้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นจะมีอาการปวดหลังแบบเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดร้าวลงที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งหากไม่ยอมไปพบแพทย์ อาการอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการปวดหลังและร้าวลงขา ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาทันที
สาเหตุของโรคนี้ อาจเกิดจากการทำงานที่เคร่งเครียดจนเกินไป นั่งทำงานในท่าเดิม ไม่มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จนร่างกายเกิดการอ่อนล้า และเสื่อมสภาพลงไป ดังนั้น ในช่วงเวลาทำงานขอให้คุณหมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และลดน้ำหนักให้สมดุลกับร่างกาย
6. โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม
โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ “โรคซีวีเอส” มีสาเหตุมาจากการใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (เกินความจำเป็น) รวมถึงตำแหน่งการจัดวางคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม มีแสงสว่าง หรือแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์มากจนเกินไป ท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม ระยะห่างระหว่างดวงตากับจอคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่ “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” ได้ทั้งสิ้น
โดยอาการของผู้เป็นโรคนี้ คือ แสบตา ตาแห้ง ตาไม่สู้แสง ไม่สามารถจับโฟกัสได้ วิธีป้องกันง่ายๆ เพียงแค่พักสายตาเป็นระยะๆ เช่น ทุกๆ 20 นาที ให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที ทั้งการหลับตาพัก การเปลี่ยนจุดโฟกัสจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นที่อื่น หรือลุกจากที่นั่งเพื่อไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำก็ได้
7. โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือสัญญาณเตือนโรคมะเร็ง อาการของโรคนี้ คือ อาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม หากชีวิตคุณหลงเข้ามาติดกับเจ้า “โรคลำไส้แปรปรวน” ก็ให้เตรียมใจไว้เลยว่า ตลอดช่วงชีวิตของคุณจะต้องเผชิญกับโรคนี้อีกหลายครั้งอย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเครียดก็ยิ่งกระตุ้นอาการของโรคให้มากขึ้น
8. โรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคพังผืดทับเส้นประสาท” เป็นโรคที่พบได้มากในวัยทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมือ เช่น ช่างเจาะถนน ครู ทํางานเย็บปักถักร้อย หรือนักกีฬาบางประเภท (ปิงปอง แบดมินตัน วอลเลย์บอล)
สำหรับวิธีรักษาโรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ มีหลายรูปแบบ ทั้งกินยา ผ่าตัด หรือทำกายภาพ อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเข้ารับการรักษาแบบใด หากยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตทำงานในรูปแบบเดิมๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นโรคนี้ได้อีก ดังนั้น คุณควรหมั่นบริหารมือและนิ้วอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เอ็นข้อต่อ จะช่วยลดความเสี่ยงจากอาการเส้นเอ็นอักเสบ
พอทราบสาเหตุของแต่ละโรคแบบนี้แล้ว บอกได้เลยว่า วิธีแก้ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก เพียงแค่คุณลุกออกจากโต๊ะทำงานบ้าง เพื่อเคลื่อนไหวร่างกาย ปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้ชีวิตประจำวันเสียใหม่ ปรับการกินใหม่ พยายามแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย และพักผ่อนบ้าง เพียงเท่านี้ บรรดาโรคร้ายก็จะหลีกหนีไปจากคุณเอง
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล,
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล,
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : iStock
เรียบเรียง : คอร์ดี้ไทย