โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) หรือ โรคหอบหืด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย ประมาณร้อยละ 10-15 ของประชากร พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคหอบหืด หรือ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) มีสาเหตุมาจากเยื่อบุหลอดลมมีความไวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก โดยเฉพาะตอนเช้ามืด ตอนกลางคืน หรือขณะเป็นไข้หวัด รวมถึงขณะออกกำลังกาย สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปัจจัยจาก สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรม
อาการของโรคหอบหืดจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น
- ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ
- ทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่
- ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ
- เด็กอาจเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หรือมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้
อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมีโอกาสเสียชีวิตจากอาการสมองขาดออกซิเจน ดังนั้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้อีกด้วย
ร้อยละ 50-85 ของผู้ป่วยโรคหอบหืด มักพบว่ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย เมื่อผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการทางจมูกมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้าม หากสามารถควบคุมอาการของโรคจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย
การรักษาโรคหอบหืด มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และกำจัด หรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ หรือกระตุ้นทำให้เกิดอาการ
ถือเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นการป้องกันและรักษาที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมถึงผักและผลไม้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการ
- รักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส
นอกจากนี้ควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารกระตุ้นให้เกิดอาการ หรือสารก่อภูมิแพ้ ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด และควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ ควันธูป กลิ่นฉุนหรือแรง, อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป, การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างฉับพลัน นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยง การสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า การอดนอน จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคหอบหืดแท้ที่จริงแล้วเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย ให้หลีกเลี่ยง หรือระมัดระวัง สิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการนั่นเอง
2. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ
เช่น ยาสูด หรือพ่นคอยารับประทาน เพื่อช่วยขยายหลอดลม หรือช่วยปรับความไวของหลอดลม ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก แต่การรักษาด้วยยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเอง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของจมูก เช่น มีการอักเสบของโพรงจมูก (เช่นเป็นหวัด) หรือไซนัส ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้อาการของโรคหอบหืดรุนแรงมากขึ้นได้
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้
เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหอบ เข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย เช่น มีโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
โดยสรุป….. โรคหอบหืด หรือ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) นั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องของผู้ป่วยร่วมด้วย
ขอขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก
รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบ : https://healthjade.com/asthma/