ไอเรื้อรัง, ภูมิแพ้ ,รักษา,รักษาที่ไหนดี,ไม่หาย,คือ,กินยาอะไรดี,วิธีรักษา,คือ

อาการไอ คือการขับลมผ่านเส้นเสียงที่ปิด เป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางดินหายใจ และยังเป็นหนึ่งในกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ โดยอาการไอจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมีสิ่งกระตุ้นที่ตัวรับสัญญาณการไอเสียก่อน ซึ่งตัวรับสัญญาณการไอในร่างกายมีตั้งแต่ จมูก โพรงจมูก ช่องหู เยื่อบุแก้วหู ไซนัส คอหอย หลอดลม กล่องเสียง กะบังลม ปอด เยื่อหุ้มปอด กระเพาะอาหาร และเยื่อหุ้มหัวใจ เมื่อมีตัวไปกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นสารเคมี สิ่งแวดล้อม หรือรอยโรคบางอย่าง ตัวรับสัญญาณการอก็จะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมในสมอง และจะส่งสัญญาณต่อไปที่กล้ามเนื้อและอวัยวะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการไอ เช่น กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อกล่องเสียง กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อหลอดลม และกล้ามเนื้อท้อง ทำให้เกิดการไอขึ้น

เราสามารถแบ่งอาการไอตามระยะเวลาของอาการไอได้เป็น 2 ชนิด คือ ไอเรื้อรัง และ ไอเฉียบพลัน โดยการไอแต่ละชนิดมีสาเหตุมาจากอะไร มีวิธีการรักษาและป้องกันอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้

อาการไอหากแบ่งตามระยะเวลาสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่

1.ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 8 สัปดาห์
2.ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์

สาเหตุของอาการไอเฉียบพลัน
อาการไอเฉียบพลันมักจะเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น หวัด คออีกเสบ กล่องเสียงอักเสบ ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน) หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อาการกำเริบของถุงลมโป่งพอง การมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู จมูก หลอดลม หรือการสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น แก๊ส กลิ่นสเปรย์ ควันบุหรี่ ควันไฟ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง
การไอเรื้อรังเป็นปัญหาที่พบได้ถึงร้อยละ 11 – 20 ของจำนวนประชากร โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งการหาสาเหตุของอาการไอเรื้อรังนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์หู คอ จมูก อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และโรคปอด จะทำให้สามารถค้นหาสาเหตุของอาการไอได้ง่ายขึ้น เพราะอาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ และการใช้เสียงมากจะทำให้เกิดเส้นเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ หลอดลม หรือกล่องเสียง กรดไหลย้อน หืด วัณโรคปอด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง การทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นเวลานาน และโรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ เป็นต้น

ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 ของผู้มีอาการไอที่แข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACE-I และมีภาพรังสีทรวงอกปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคกรดไหลย้อน และโรคหืด

ถึงแม้ว่าอาการไอส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่กลับอาการไอเรื้อรังนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้ เช่น ทำให้เป็นที่รังเกียจ หรือรำคาญของผู้อื่น และอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ทำให้ตัวผู้ป่วยกังวลว่าตนเองจะมีโรคร้ายอันตรายซ่อนอยู่หรือไม่ ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียการเรียน เสียงาน หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงเพราะต้องพบแพทย์หลายด้าน หรืออาจต้องเสียเงินซื้อยาแก้ไอหลายขนาน รบกวนการรับประทานอาหาร และการพักผ่อน ในบางคนอาจถึงขั้นไอมากจนหมดสติ หรือมีปัสสาวะเล็ดราด ในผู้ป่วยที่อายุมาก การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหัก หรืออาจทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตกออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด เกิดอาการหอบง่าย และอาจอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยและการรักษา
เนื่องจากผู้ป่วยเป็นไอเรื้อรัง อาจมีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นจากหลายอย่าง แพทย์จึงต้องทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และสืบค้นเพิ่มเติม การซักประวัติ เช่น ประวัติการใช้ยา ACE-I การสูบบุหรี่ การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการไอ (เช่น ฝุ่น ควันอากาศเย็น) อาการของกรดไหลย้อน (เช่น เรอเปรี้ยว ท้องอืด เจ็บหน้าอก) อาการทางจมูกหรือโรคไซนัส รวมทั้งประวัติโรคภูมิแพ้ของผู้ป่วยและคนนครอบครัว เป็นต้น การตรวจร่างกาย ได้แก่ การตรวจหู คอ จมูก ปอด และระบบอื่น ที่เกี่ยวข้อง การส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด การส่องกล้องตรวจทางเดินหายใจส่วนบน การตรวจเสมหะ และการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นต้น

การรักษาอาการไอที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการ และการรักษาตามเหตุผล การทานยาแก้ไอหรือยาขยายหลอดเลือดล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น เพราะอาการไออาจบรรเทาลงเมื่อใช้ยา แต่หากยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ เมื่อหยุดใช้ยาอาการก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่าอาการไอเกิดได้จากหลายเหตุปัจจัย ในบางครั้งอาจตรวจไม่พบสาเหตุ กรณีนี้แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีลองการรักษา เช่น แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยน่าจะป่วยเป็นโรค A (สมมติ) ดังนั้นจึงลองใช้ยารักษาโรค A แล้วสังเกตอาการของผู้ป่วยว่าดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากอาการดีขึ้น แพทย์สามารถอนุมานได้ว่าผู้ป่วยน่าจะมีอาการไอเนื่องจากโรค A แต่การรักษาด้วยวิธีการลองรักษานั้น บางครั้งอาจต้องใช้เวลานาน ดังตัวอย่างในตารางต่อไปนี้

การลองรักษาเพื่อวินิจฉัยโรคและระยะเวลาของการรักษาที่จะเห็นผล

การลองรักษาเพื่อวินิจฉัยโรค

ระยะเวลาของการรักษาที่จะเห็นผล (สัปดาห์)

การหยุดสูบบุหรี่

4

การหยุดใช้ยา ACE-I

4

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง

2- 4

โรคหืด

6 – 8

โรคกรดไหลย้อน

8 – 12

นอกจากนี้ การปฏิบัติตนขณะมีอาการไออย่างถูกต้องยังมีส่วนสำคัญที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่แย่ลง สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ได้แก่ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ไอมากขึ้น เช่น ควัน ฝุ่น บุหรี่ สารเคมี มลพิษทางอากาศ สารก่ออาการระคายเคือง อากาศที่เย็น การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การรับประทานไอศกรีม หรืออาหารที่ระคายคอ เช่น อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน ไม่เปิดพัดลมเบอร์แรงสุด และควรเปิดพัดลมให้ส่ายไปมา ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง ทำร่างกายห้อบอุ่นขณะนอนหลับ เช่น นอนห่มผ้า สวมหมวกหรือถุงเท้า สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ปิดปากและจมูกเวลาไอด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ ล้างมือทุกครั้งหากใช้มือปิดปากเวลาไอ งดสูบบุหรี่ และดื่มน้ำอุ่นมากๆ

ยาบรรเทาอาการไอ
ถึงแม้ว่าการใช้ยาบรรเทาอาการไอจะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่ในบางครั้งก็มีความจำเป็น เนื่องจากอาการไอนั้นรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ยาบรรเทาอาการไอแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ยาลดหรือระงับอาการไอ โดยยาชนิดนี้อาจออกฤทธิ์ที่จุดรับสัญญาณการไอส่วนปลาย หรือออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกบางของสมองที่ควบคุมอาการไอ เช่น dextrometrophan, codeine (codeine เป็นยาควบคุม การจะซื้อยาชนิดนี้จึงจำเป็นต้องมีใบสั่งจากแพทย์) ให้เลือกใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ เพราะหากเกิดอาการไอมากๆ โดยเฉพาะในเด็ก เสมหะอาจจะอุดตันหลอดลม ทำให้ไอมากยิ่งขึ้น

2. ยาขับเสมหะ ถ้ามีเสมหะเป็นสาเหตุของอาการไอ การขับเสมหะออกไปจะช่วยให้อาการไอดีขึ้น โดยตัวยาจะไปกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ เพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เสมหะมีปริมาณมากขึ้น จึงไอเอาเสมหะออกมาได้ง่าย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น potassium guaiacol sulphonate, terpin hydrate, ammonium chloride ควรใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ

3. ยาละลายเสมหะ จะช่วยลดความเหนียวของเสมหะ ทำให้สามารถขับเสมหะออกมาได้ว่ายขึ้น เช่น ambroxol hydrochloride, bromhexine, carbocysteine ควรเลือกใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ บางครั้งอาจนิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ ซึ่งจากยาละลายเสมหะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีตัวใดสรรพคุณเท่า “น้ำเปล่า” อีกแล้ว

กล่าวโดยสรุป อาการไอนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย ทั้งจากโรคไม่ร้ายแรง เช่น คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหวัด และโรคร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ เนื้องอกบริเวณลำคอ หลอดลม หรือกล่องเสียง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉันที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากพบว่ามีอาการและได้ทำการรักษาเบื้องต้นแล้วแต่อาการไอยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : www.walmart.ca

ไอเรื้อรังไม่หาย ทำอย่างไรดี?