โรคไต,สาเหตุ,เกิดจาก,อาการ,วิธีรักษา,อาหารเสริม,ป้องกัน

โรคไต คือภาวะที่ทำให้ไตทำงานผิดปกติหรือเกิดความเสียหาย จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา สาเหตุมาจากการที่ไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตนั้นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อป้องกันและบรรเทาการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

หน้าที่ของไต

  • กำจัดสารที่เป็นพิษหรือยาบางชนิด
  • ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ผลิตวิตามินดีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเสริมสร้างกระดูก
  • กำจัดน้ำ เกลือแร่ และสารส่วนเกิน รวมทั้งกรดเพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ
  • สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ถ้าไตวายจะทำให้ซีดได้
  • กำจัดของเสียออกทางปัสสาวะ ของเสียจากโปรตีนและจากกล้ามเนื้อคือ ยูเรีย (Urea) และครีอะตินิน (Creatinine) ถ้ามีสารนี้มากร่างกายจะเจ็บป่วย

จะเกิดอะไรขึ้นหากไตไม่ทำงาน

  • เกิดการคั่งของน้ำ ของเสีย เกลือแร่ และกรดในร่างกาย ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ
  • มีของเสียคั่งในน้ำเลือดทำให้เลือดไม่สะอาด และเมื่อเลือดไม่สะอาดไหลไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เซลล์จะทำงานไม่ได้ดังปกติ
  • ถ้าไตหยุดทำงานอย่างเฉียบพลัน ร่างกายจะปรับตัวไม่ทันและมีอาการให้เห็นเร็ว แต่ถ้าไตทำงานลดลงอย่างช้าๆ ร่างกายอาจพอปรับตัวตามได้บ้าง แต่ยังมีอาการไม่มากในระยะแรก และเมื่อใดที่ไตทำงานน้อยมาก ร่างกายก็ไม่สามารถปรับตัวได้อีก จะเกิดการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต

ในระยะแรกเริ่มของโรคไตนั้นมักจะไม่ค่อยแสดงอาการ หากต้องการทราบว่าตัวเองเป็นโรคไตหรือไม่ควรตรวจร่างกายขั้นต้น ดังนี้

  • ตรวจวัดความดันโลหิตว่าสูงหรือไม่
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อหาร่องรอยการอักเสบของไต
  •  ตรวจเลือดหาระดับ “ครีอะตินิน(Creatinine)” เพื่อคำนวณการทำงานของไตและถ้าตรวจแล้วพบสิ่งผิดปกติแพทย์จะนำนำให้ตรวจอย่างละเอียดต่อไป

โรคไตเรื้อรังที่พบได้บ่อย และ อาการบอกโรคไต โรคไตเรื้อรังเกิดได้จาก

  • โรคไตทางพันธุกรรม อาทิ ถุงน้ำในไต
  • โรคไตอักเสบจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ อาจเกิดจากไวรัส เชื้อแบคทีเรียหรือสารอื่นๆ
  • โรคไตที่เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะได้แก่ นิ่ว เนื้องอก ต่อมลูกหมากโต
  • โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อ เชื้อโรคสามารถขึ้นไปตามทางเดินปัสสาวะไปทำลายไต
  • โรคไตที่เกิดจากโรคอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เกาต์ เอสแอลอี เป็นต้น
  • โรคไตจากยาและสารพิษ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด (NSASPs)ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือสารพิษจากสิ่งแวดล้อม อาทิ ตะกั่ว ปรอท

** ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อาการเตือน เสี่ยงโรคไต

1. มีอาการบวมทั้งตัว
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตส่วนใหญ๋จะมีอาการบวมตามตัว เนื่องจากมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย ในระยะแรกอาจบวมแค่ที่หนังตา และหน้า ต่อมาจะเริ่มมีการบวมที่บริเวณขาและเท้าทั้งสองข้าง สามารถทดสอบได้โดยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย ถ้าเป็นรอบบุ๋มแสดงว่ามีอาการบวมแน่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดและวินิจฉัยโรค แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคไตแต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และโรคตับ ฉะนั้นการตรวจปัสสาวะจึงเป็นวิธีที่น่าจะได้ผลชัดเจนที่สุด

2. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย  ตัวซีด
ผู้ป่วยโรคไต ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่หากเมื่อปล่อยไปนานเข้าเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และหากเป็นมากๆ ถึงขั้นที่ใกล้จะเป็นไตวายเรื้อรัง ร่างกายจะยิ่งซีด เกิดอาการคันตามตัว และเบื่ออาหาร

3. ปวดบั้นเอว ปวดหลัง
หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับไต เราอาจรู้สึกปวดหลัง ปวดบริเวณบั้นเอวที่ชายโครง ร้าวไปจนถึงท้องน้อยหัวหน่าว และอวัยวะเพศได้ ในบางคนอาจปวดกระดูกและข้อ ซึ่งอาจมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือภายในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองได้ แต่สำหรับอาการปวดหลังนั้นสามารถวินิจฉัยได้หลายโรคเช่นกัน จึงควรที่จะต้องตรวจสอบอาการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ถ้าเราลองกดและทุบเบาๆ บริเวณหลังแล้วมีอาการเจ็บ อาจเป็นอาการของโรคไตอักเสบ หรือไตเรื้อรัง และถ้ามีอาการไข้สูงร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของกรวยไตอักเสบติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมร่วมด้วยหลายโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรค SLE เป็นต้น

4. ปัสสาวะผิดปกติ
การที่ปัสสาวะของเราผิดปกติอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าไตของเราทำงานผิดปกติได้ โดยเราสามารถสังเกตปัสสาวะว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ดังนี้

ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาการผิดปกตินี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ หลายโรค เช่น นิ่ว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื้องอกทางเดินปัสสาวะ เส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ โรคไตเป็นถุงน้ำ หรือจะเป็นมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ

ปัสสาวะน้อย สำหรับผู้ที่ปัสสาวะไม่ออกเลย อาจมีสาเหตุมาจากทางเดินปัสสาวะถูกอุดกัน หรือไตทำงานผิดปกติ สามารถทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการดื่มน้ำให้มาก แล้วสังเกตว่าปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ หากยังน้อยอยู่แสดงว่าไตผิดปกติ ควรไปพบแพทย์

ปัสสาวะบ่อย การปัสสาวะของแต่ละคนนั้นมีความถี่ไม่เท่านั้น จะขึ้นอยู่กับการดื่มน้ำ หรือการเสียน้ำออกจากร่างกายโดยวิธีอื่นๆ เช่น เหงื่อ หรืออุจจาระ แต่ถ้าหากว่าเริ่มรู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยขึ้นผิดปกติ หรือ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน(ต้องตื่นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนเกิน 3 – 4 ครั้ง) ควรเริ่มสงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคไตได้ เพราะปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 250 ซีซี. แต่สำหรับคนที่เป็นโรคไต ความผิดปกติคือไตจะไม่สามารถหยุดการขับน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้น้ำออกมามากและปัสสาวะบ่อยขึ้น จึงต้องตื่นไปปัสสาวะตอนกลางดึก

ปัสสาวะเป็นฟองมาก ฟองสีขาวที่เห็นในปัสสาวะนั้น จริงๆ แล้วมันคือโปรตีนซึ่งพบในทุกคน แต่ถ้าใครที่มีฟองสีขาวมากผิดปกติ อาจเป็นเพราะว่าเส้นเลือดฝอยในไตอาจเกิดการอักเสบ ทำให้โปรตีนเกิดการรั่วไหลออกมามากผิดปกติ แต่ถึงอย่างไรก็อย่ารีบตัดสินว่าเป็นโรคไต ต้องรอดูอาการอื่นๆ ไปก่อน เช่น ปัสสาวะมีฟองมากและมีเลือด อาจสันนิษฐานว่าเป็นโรคไตได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายให้เร็วที่สุด

5. ความดันโลหิตสูงมาก
การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดๆ จะทำให้ไตเราทำงานหนักมากขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย

 

ข้อมูลจาก : สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
ขอขอบคุณข้อมูล : https://goodlifeupdate.com/
ภาพ : https://3c1703fe8d.site.internapcdn.net/

โรคไต รู้เร็ว รู้ก่อน ป้องกันได้