การง่วงนอนตลอดทั้งวัน นอกจากจะทำให้เรารูสึกไม่สดชื่นแล้ว ยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานรวมถึงการใช้ชีวิตอีกด้วย ควรหาสาเหตุของอาการง่วงนอนระหว่างวันและวิธีรักษาที่เหมาะสม ก่อนที่อาการง่วงนอนจะสร้างปัญหาและส่งผลลุกลามทำให้ชีวิตยุ่งยากไปกว่าเดิม
เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการง่วงนอนในระหว่างวัน ซึ่งอาการง่วงเหงาหาวนอนนั้นเกิดจากความอ่อนเพลีย แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการนี้เกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเท่านั้น ทั้งที่อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง หรือผลกระทบที่มาจากปัญหาสุขภาพ ซึ่งสาเหตุหลักที่สามารถพบได้มีดังนี้
พฤติกรรมการใช้ชีวิต พฤติกรรมบางอย่างที่เราทำเป็นประจำทุกวันก็อาจส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันได้ เช่น การนอนดึก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอจนทำให้เกิดอาการง่วงซึม อีกทั้งการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานในเวลากลางคืนก็เป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกง่วงนอนทั้งวันได้เช่นกัน
ปัญหาทางสุขภาพจิต การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ ซึ่งสาเหตุหลักของอาการดังกล่าวนี้มักมาจากอาการเบื่อหน่าย ในขณะเดียวกันภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลียจนเป็นสาเหตุของอาการง่วงนอนได้เช่นกัน
ปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาทางสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ เช่น
- โรคแพ้กลูเตน สำหรับคนที่มีอาการแพ้โปรตีนกลูเตน ซึ่งหากรับประทานอาหารที่มีโปรตีนกลูเตนเป็นส่วนประกอบเข้าไปจะก่อให้เกิดอาการแพ้ที่อาจทำให้มีอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย และโลหิตจางได้ โดยอาหารที่มีโปรตีนกลูเตน ได้แก่ ซีเรียล ขนมปัง และเค้ก
- โรคโลหิตจาง อาการง่วงนอนจากโรคโลหิตจาง ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะขาดธาตุเหล็ก เมื่อร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าและอ่อนเพลีย
- โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการอ่อนเพลียอย่างรุนแรงติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน ซึ่งโรคนี้อาจก่อให้เกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดข้อ หรือปวดกล้ามเนื้อเป็นต้น อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังและเมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) หากฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายต่ำกว่าปกติก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย และยังทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและน้ำหนักลดด้วยเช่นกัน
- โมโนนิวคลีโอสิส (Mononucleosis) หรือ โรคติดเชื้ออีบีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อไวรัสที่จะก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียจากไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ โดยแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ และรอให้ร่างกายทำการกำจัดเชื้อไวรัสนี้ไปเองตามธรรมชาติ โดยอาจจะใช้เวลาในการรักษานาน แต่ในบางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อเพิ่ม ทำให้จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาควบคู่ไปด้วย
- โรคเบาหวาน อาการอ่อนเพลียจากโรคเบาหวานมีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินกว่าปกติ ซึ่งเมื่อเลือดมีน้ำตาลสูงขึ้น จะทำให้รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย อีกทั้งยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หรือน้ำหนักลด เป็นต้น
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่เป็นสุข (Restless Legs Syndrome) ผู้ที่มีกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขมักจะมีอาการปวดขา ขาสั่น จนทำให้นอนหลับพักผ่อนได้ไม่เพียงพอในเวลากลางคืน ซึ่งเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียในระหว่างวันได้
- โรควิตกกังวลเกินเหตุ (Generalised Anxiety Disorder) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความวิตกกังวลสะสม จนกลายเป็นความเคยชิน ส่งผลให้กลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตได้ และยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
การใช้ยา การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยากล่อมประสาทนั้นมักจะมีผลข้างเคียงคืออาจทำให้รู้สึกง่วง ซึ่งยาเหล่านี้โดยปกติจะมีคำเตือนให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรกลเพื่อความปลอดภัย และหากมีอาการง่วงนอนตลอดวันขณะที่ใช้ยาเหล่านี้ อาจเป็นเพราะเกิดจากการใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือยาที่ใช้มีปริมาณที่ไม่เหมาะสมกับตัวผู้ใช้เอง
นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับยังส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ จะทำให้มีอาการง่วงนอนในระหว่างวัน เนื่องจากยานอนหลับจะไปรบกวนวงจรการนอนซึ่งทำให้ตื่นมาแล้วจะรู้สึกไม่สดชื่น หรืออาจง่วงนอนมากกว่าปกติได้
ความผิดปกติทางด้านการนอนหลับ (Sleeping Disorder) อาการง่วงนอนอย่างหนักตลอดทั้งวันโดยไม่ทราบสาเหตุนับเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับ ซึ่งปัญหาที่ส่งผลต่ออาการง่วงนอนอย่างชัดเจนที่สุดคือ การหยุดหายใจระหว่างนอนหลับทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกจึงทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และยังมีโรคลมหลับ หรือนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน ก็นับเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอจนทำให้เกิดอาการง่วงนอนระหว่างวันได้เช่นกัน
แก้ไขอาการง่วงนอนอย่างไรให้ถูกวิธี
เมื่อมีอาการง่วงนอนการงีบหลับก็เป็นอีกหนึ่งวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดความง่วงได้ แต่นั่นก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็จะกลับมามีอาการง่วงนอนอีก ฉะนั้นจึงควรหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเพื่อให้อาการง่วงนอนหายไป โดยวิธีกำจัดอาการง่วงนอนระหว่างวันทำได้ดังนี้
เปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับ การเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนจะสามารถช่วยลดปัญหาง่วงนอนระหว่างวันได้ เพราะจะทำให้เราได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ตื่นมาอย่างสดชื่น และการเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนก็สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น
- เคารพนาฬิกาชีวิตให้มากขึ้น ปกติคนเราทุกคนจะมีนาฬิกาชีวิตของตัวเอง โดยนาฬิกาชีวิตจะคอยควบคุมการนอนหลับและการตื่นนอนของเรา และยังรวมไปถึงสุขภาพโดยรวมของเราอีกด้วย หากเราไม่ปฏิบัติตามเวลาของนาฬิกาชีวิตนี้ จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย แต่อาการนี้ก็สามารถลดลงได้ด้วยการพักผ่อน ควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับเมื่อไม่รู้สึกเหนื่อยหรือง่วง หากต้องการงีบก็ไม่ควรงีบในช่วงบ่ายแก่ๆ และควรตื่นและเข้านอนให้ตรงเวลา การตื่นนอนตอนเช้าเพื่อออกไปรับแสงแดดยามเช้าตรู่ก็สามารถช่วยให้นาฬิกาชีวิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้องนอน การที่สภาพแวดล้อมในห้องนอนไม่ดีก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ โดยควรจัดที่นอนให้สามารถนอนหลับได้อย่างสบาย อุณหภูมิห้องมีความเหมาะสม ไม่ควรมีแสงสว่างในห้อง ห้องต้องเงียบ และไม่ควรใช้ห้องนอนเพื่อจุดประสงค์อื่นนอกจากการนอน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเสพติด การนอนหลับของเราอาจจะแย่ลง หากเราใช้ยานอนหลับหรือยาเสพติด เพราะยานอนหลับจะทำให้วงจรการนอนของเราเปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้ตื่นมารู้สึกอ่อนเพลีย และสำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ แม้จะช่วยให้ผ่อนคลายได้แต่บุหรี่นั้นก็ไปกระตุ้นอัตราการเร่งของหัวใจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้ตื่นตัวและนอนหลับได้ยาก ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปรบกวนรูปแบบการนอนจะทำให้สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย และทำให้รู้สึกไม่สดชื่น
- ผ่อนคลายความเครียด เมื่อมีอาการเครียดเราก็ควรจะผ่อนคลายความเครียดของตัวเอง เพราะความเครียดก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรานอนไม่หลับ วิธีผ่อนคลายความเครียดนั้นก็มีหลายวิธี อาจจะเป็นการทำสมาธิ ออกกำลังกาย หรือการนวดก็เป็นวิธีที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีเช่นกัน
ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญทำให้ร่างกายเราแข็งแรงรู้สึกกระปรี้กระเปร่า และการออกกำลังกายเพียง 30 นาทีต่อวัน ยังทำให้เราสามารถนอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วย
รับประทานอาหารให้บ่อยขึ้น การหมั่นรับประทานอาหารบ่อยๆ ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป จะทำให้ร่างกายของเรามีพลังงานตลอดทั้งวันและทำให้ไม่อ่อนเพลีย ซึ่งอาหารที่รับประทานก็ควรเป็นอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ไม่ควรรับประทานของหวานมากๆ และลองปรับเปลี่ยนมื้ออาหารที่รับประทานจาก 3 มื้อใหญ่ เป็นวันละประมาณ 5 – 6 มื้อย่อยแทน เปลี่ยนมารับประทานผักผลไม้ หรือธัญพืชแทนการรับประทานขนมขบเคี้ยว โดยรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้มีแรงและรู้สึกกระปรี้กระเปร่าตลอดทั้งวันได้
ลดน้ำหนัก ความอ่อนเพลียและง่วงนอนระหว่างวันอาจเกิดจากการที่ร่างกายเราทำงานหนักขึ้นจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ได้ ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงเป็นหนึ่งในทางแก้ปัญหาและช่วยลดอาการอ่อนเพลียในระยะยาวได้ แต่ก็ควรเลือกใช้วิธีการลดน้ำหนักที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเราด้วย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรืออาหารเสริมลดน้ำหนักที่ไม่ได้รับการรับรองเพราะจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้
ลดความเครียด ให้หาวิธีผ่อนคลายความเครียดให้ลดน้อยลง เพราะเมื่อความเครียดเบาบางลงอาการอ่อนเพลียของร่างกายก็จะค่อยๆ ลดลงตาม อีกทั้งยังทำให้รู้สึกสงบ และนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มอิ่มอีกด้วย
ดื่มน้ำให้มาก เมื่อร่างกายเราได้รับน้ำอย่างเพียงพอในปริมาณที่ควรได้รับต่อวันจะทำให้รู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้น การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงเป็นวิธีที่สามารถช่วยเรื่องอาการอ่อนเพลียได้ และน้ำที่ดื่มก็ควรเป็นน้ำเปล่า ไม่ควรเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะแม้จะทำให้รู้สึกสดชื่น แต่ก็เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น และยังทำให้รู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าเดิมในภายหลังอีกด้วย
การรักษาด้วยวิธีการแพทย์ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตแล้วแต่อาการง่วงนอนตลอดทั้งวันก็ยังไม่หายไป การไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการนอนหลับเพื่อปรึกษาก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะอาการง่วงนอนอย่างหนักเรื้อรังนั้นอาจจะเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เราไม่ทราบก็ได้ โดยการวินิจฉัยของแพทย์ก็คือ แพทย์จะพยายามระบุสาเหตุต่างๆ ของอาการง่วงนอนตลอดทั้งวัน โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ออกมา เช่น การสะดุ้งตื่นในตอนกลางคืน คุณภาพในการนอนหลับ อาการกรน อีกทั้งแพทย์จะสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวอาการง่วงนอนว่ามีอาการง่วงนอนบ่อยหรือไม่ และแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยจดบันทึกการนอนหลับและการง่วงนอนของผู้ป่วย หรือกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำเมื่อรู้สึกง่วงในระหว่างวัน หากพบว่าสาเหตุเกิดจากสุขภาพจิต แพทย์จึงจะแนะนำให้ปรึกษากับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตเพื่อหาทางรักษาต่อไป
หรือถ้าหากอาการง่วงนอนตลอดเวลามีสาเหตุมาจากการใช้ยา แพทย์อาจมีการพิจารณาเปลี่ยนประเภทของยาใหม่ รวมถึงปรับปริมาณการใช้ยา จนกว่าอาการง่วงนอนจะหายไป ทั้งนี้ผู้ป่วยก็ไม่ควรหยุดหรือลดปริมาณยาที่รับประทานหากยังไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ และถ้าสาเหตุของการง่วงนอนระหว่างวันเกิดจากความผิดปกติด้านการนอนหลับ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยหาปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับนั้น เมื่อได้ผลที่ชัดเจนแล้วจึงจะรักษาเพื่อให้อาการนอนหลับกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าหากการวินิจฉัยในขั้นแรกยังไม่สามารถระบุปัญหาของอาการง่วงนอนได้ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรืออาจเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อหาความผิดปกติของการทำงานของสมองเพื่อทำการรักษาต่อไป
ทั้งนี้อาการง่วงนอนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก แต่ก็ควรได้รับการใส่ใจมากขึ้น เพราะหากเราปล่อยประละเลยเพียงเพราะคิดว่าเป็นแค่อาการง่วงทั่วไป ทั้งที่อาจเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลให้อาการง่วงนอนนั้นเรื้อรังจนยากที่จะรักษา หรืออาจรักษาได้ไม่ทันการณ์ และผลสุดท้ายก็จะส่งผลเสียต่อตัวเรามากมายหลายร้อยเท่า
ขอขอบคุณข้อมูล : pobpad.com