โรคไต ห้ามกินอะไร

โรคยอดฮิตของคนไทย คงหนีไม่พ้นโรคที่เกิดจากอาหารการกินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงการทานอาหารที่ไม่มีความสมดุล ทานบางอย่างมากเกินไป พอสะสมนานวันเข้า สุดท้ายอาจเป็นโรคไตได้ แต่นอกจากอาหารเค็มแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่คนเป็นโรคไต หรือที่กำลังฟอกไตอยู่ควรระวัง

ฟอสฟอรัส  (Phosphorus) ตัวอันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคไต

นอกจากโซเดียมที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคความดันโลหิตสูง และโรคไตแล้ว ยังมีฟอสฟอรัสอีกตัวหนึ่งที่จะทำให้อาการของโรคไตแย่ลง เพราะเมื่อไตของเรากำลังเสื่อม ความสามารถในการกรองเอาสารอาหารประเภทฟอสฟอรัสออกจากร่างกายก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็แปลว่า ยิ่งเราทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสเข้าไปมากเท่าไร มันก็สะสมอยู่ในร่างกายมากขึ้นเท่านั้น ไม่ยอมออกไปไหนเสียที ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนที่ไตทำงานปกติ ไตจะกรองเอาสารอาหารที่เกินความจำเป็นต่อร่างกายออกให้ แต่ที่เป็นปัญหาคือฟอสฟอรัสไม่ยอมออกไปด้วย ก็เลยทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ฟอสฟอรัส ทำร้ายร่างกายผู้ป่วยโรคไตได้อย่างไร?

สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่กำลังอยู่ในภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง มีวิธีสังเกตอาการง่ายๆ คือ ผิวหนังมีสีดำคล้ำมากขึ้น มีอาการคันยิบๆ ตามตัวจนรู้สึกรำคาญ หรือในบางรายที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้กระดูกเปราะ หรือหักได้ง่าย

นอกจากนี้อาจมีอาการต่อมพาราไทรอยด์โต และซ้ำร้าย อาจทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือด สำหรับคนที่กำลังฟอกไตอยู่ได้

งดฟอสฟอรัสไปเลยดีไหม?

ฟอสฟอรัส ไม่ใช่สารอาหารที่ให้แต่โทษเพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้ว ฟอสฟอรัสเป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายของเรา เป็นอันดับสอง รองจากแคลเซียมเลยก็ว่าได้ และยังช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดต่างๆ ได้อีกด้วย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต ควรจำกัดการทานอาหารที่มีฟอสฟอรัส เพื่อไม่ให้มีปริมาณฟอสฟอรัสสะสมอยู่ในร่างกายมากจนเกินไป

ฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง ทำงานร่วมกับแคลเซียม มีหน้าที่เป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน หน้าที่อื่นๆ เช่น กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ปกติเมื่อฟอสฟอรัสเข้าสู่ร่างกาย ส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึม อีกส่วนหนึ่งที่เหลือในเลือดจะถูกขับออกทางปัสสาวะและอุจจาระ ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ประสิทธิภาพในการขับฟอสฟอรัสจะลดลง ซึ่งทำให้เกิดการคั่งของฟอสฟอรัสในเลือด

  • ระดับฟอสฟอรัสปกติในเลือด     3.5 – 5.5 mEq/L
  • ระดับฟอสฟอรัสต่ำในเลือด     < 3.5 mEq/L  เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระดับฟอสฟอรัสสูงในเลือด      > 5.5 mEq/L คันตามผิวหนัง มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อ หลอดเลือดแดงแข็ง ภาวะต่อมพาราไทรอยด์โต กระดูกบางและเปราะ

หมายเหตุ เมื่อระดับฟอสฟอรัสในเลือดอยู่ที่ 5.0- 5.4 mEq/L ต้องเริ่มระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เนื่องจากระดับฟอสฟอรัสจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง

  • นอกจากอาหารที่มีรสจัดแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่
  • เนื้อสัตว์ติดมัน
  • ไข่แดง
  • ถั่วต่างๆ รวมถึงธัญพืชจำพวก งาขาว งาดำ
  • ข้าวกล้อง
  • ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น โยเกิร์ต ชีส ไอศรีมที่ทำจากนม
  • บะหมี่
  • ขนมเบเกอรี่ต่างๆ
  • ขนมปังโฮลวีต
  • ขนมไทยที่ทำจากไข่แดง เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด
  • ผักสีเข้ม เช่น บล็อกโคลี่ คะน้า แครอท ผักโขม โหระพา กะเพรา ขี้เหล็ก ชะอม มะเขือเทศ ฟักทอง
  • คัสตาร์ด สังขยา ขนมหม้อแกง
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชาเขียวใส่นม กาแฟ โกโก้/ช็อคโกแลต น้ำอัดลม

อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรทาน

มองหาอาหารที่มีสีจืดๆ สีไม่เข้ม

  • ปลา
  • ไข่ขาว
  • น้ำเต้าหู้ที่ทำสดๆ น้ำนมข้าวที่ไม่ปรุงแต่ง
  • เนื้อหมู ไก่ (ที่ไม่ติดมัน)
  • วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก
  • ข้าวขาว
  • น้ำขิง
  • ผักสีอ่อน เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ฟัก มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะระ ผักบุ้ง (การนำไปลวก หรือต้มก่อนทาน ก็จะช่วยลดฟอสฟอรัสในผักได้)
  • น้ำหวาน
  • ชาไม่ใส่นม
  • เมอแรงค์ (ทำจากไข่ขาว) ซาหริ่ม ลอดช่อง ขนมชั้น วุ้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้อาหารเหล่านี้จะทานได้ แต่ก็ไม่ควรทานในปริมาณที่มากจนเกินไป ควรทานอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนเดิมในทุกๆ มื้อ ทุกๆ วัน เพื่อให้ได้สารอาหารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องทานยาจับฟอสฟอรัส ควรทานพร้อมมื้ออาหารอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสได้เป็นอย่างดี ถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดได้แล้ว อาการโรคไตของเราก็จะดีขึ้นตามลำดับ โรคไตสู้ได้ ไม่ต้องกลัวค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • kidneymeal.com
  • haamor.com
  • ภาพจาก iStock
เป็นโรคไต กินอะไร? ห้ามกินอะไร?