ไตเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดงอยู่บริเวณส่วนล่างของช่องท้อง ทำหน้าที่ กรองเอาของเสีย เกลือแร่และน้ำส่วนเกิน และจะถูกขับออกมาในรูปของปัสสาวะ ทำให้เกิดการรักษาสมดุลระหว่างน้ำกับเกลือแร่ในร่างกาย ไตจะขับของเสีย เช่น แอมโมเนียมและยูเรีย และยังทำหน้าที่ดูดน้ำ กลูโคสและกรดอะมิโนกลับ นอกจากนั้นไตยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ด้วย เช่น การกระตุ้นวิตามินดี (vitamin D) เพื่อช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย การสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และการหลั่งเอนไซม์เรนิน (renin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าหากไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย ทางมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตไว้ดังนี้คือ กรรมพันธุ์ โรคไตบางชนิดเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic Kidney Disease) ที่มีทั้งแบบที่เกิดกับทารกซึ่งมักจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่เกิด และแบบที่เกิดกับผู้ใหญ่ที่จะพบความผิดปกติเมื่ออายุ 20-30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคไตจากกรรมพันธุ์ก็พบน้อยมากแต่ถ้ามีใครคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคไตขึ้นมาโอกาสที่เครือญาติพี่น้องจะเป็นด้วยก็มีสูงถึง…