โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) หรือ โรคหอบหืด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย ประมาณร้อยละ 10-15 ของประชากร พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคหอบหืด หรือ โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (asthma) มีสาเหตุมาจากเยื่อบุหลอดลมมีความไวผิดปกติ ทำให้เกิดอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก โดยเฉพาะตอนเช้ามืด ตอนกลางคืน หรือขณะเป็นไข้หวัด รวมถึงขณะออกกำลังกาย สาเหตุเชื่อว่า เกิดจากปัจจัยจาก สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรม อาการของโรคหอบหืดจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ ทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ เด็กอาจเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หรือมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ช้าได้ อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือมีโอกาสเสียชีวิตจากอาการสมองขาดออกซิเจน ดังนั้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้อีกด้วย ร้อยละ 50-85 ของผู้ป่วยโรคหอบหืด มักพบว่ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย เมื่อผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการทางจมูกมากขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้าม หากสามารถควบคุมอาการของโรคจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย การรักษาโรคหอบหืด มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1.…