ข้อมูลจากกรมการแพทย์พบว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยกว่า 1 แสนคน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังในระยะสุดท้าย ที่ต้องได้รับการล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือด ซึ่งนอกจากต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่ายา รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติโดยตรง ทำให้ต้องเสียเวลาในการมาล้างไตทางช่องท้อง หรือมาฟอกเลือดเป็นประจำ และคงไม่มีใครที่อยากลางานสัปดาห์ละครั้งหรืออาจจะมากกว่านั้น หรือต้องสละเวลาที่จะได้ใช้ร่วมกันกับครอบครัวหรือคนที่คุณรัก เพื่อมานั่งฟอกเลือดที่โรงพยาบาลครั้งละ 4 – 5 ชั่วโมง/วัน ไปตลอดชีวิตจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน
การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตคืออีกทางเลือกหนึ่ง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง และโอกาสที่จะได้รับไตมาเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อได้เปลี่ยนไตแล้วก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น จะต้องดูแลไตที่ถูกเปลี่ยนถ่ายมาใหม่เป็นอย่างดี ด้วยการรับประทานยากดภูมิไปชั่วชีวิต ซึ่งยาก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง รวมถึงมีข้อปฏิบัติที่ต้องทำตามอย่างเคร่งครัดและสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง
โรคไตเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใด
เภสัชกรหญิงแพรพิไล สรรพกิจจานนท์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า สาเหตุโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่มาจาก ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ โรคเบาหวาน และที่สำคัญคือ การใช้ยา และสมุนไพรที่ทำอันตรายต่อไต โดยผู้ป่วยโรคไตที่เกิดจากการควบคุมความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานไม่ได้ พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะมีความเชื่อผิดๆ ว่าการกินยามากๆ จะทำให้ไตพังได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ยาทุกชนิดที่กินเข้าไปแล้วจะมีผลต่อไต
ในการรักษาแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกยาและขนาดยาที่เหมาะสมกับสภาวะของคนผู้ป่วย และมีการติดตามค่าการทำงานของไตเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ตลอดจนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และมารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานได้แล้ว ความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรังก็จะลดน้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันคือการซื้อยามากินเอง ซึ่งยาที่เป็นอันตรายต่อไตที่และพบปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์( steroid) หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก
ทำไมผู้ป่วยถึงซื้อยากลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) กินเอง?
เหตุผลที่ผู้ป่วยมักซื้อยากลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) มากินเอง เนื่องจากเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และเป็นยาที่ใช้กันอยู่แล้วในชีวิตประจำ เช่น ยาลดไข้ ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน อาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อม โรคเกาต์ แก้อาการปวดฟัน ปวดประจำเดือน และ ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ไอบูโพรเฟน แอสไพริน ไดโคลฟีแนค นาโปรเซน เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้การทำงานของไตแย่ลง หากกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือกินยาในกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) ซ้ำซ้อนก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ยาที่มีผลต่อไต
ยาประเภทอื่นๆ ที่พบว่ามีผลต่อไต ได้แก่ ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือการกินยาชุด ยาบำรุง อาหารเสริม และยาสมุนไพร ที่ไม่ระบุตัวยาและส่วนประกอบที่ชัดเจน ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งมักมีการลักลอบใส่สารที่เป็นอันตรายและเป็นพิษต่อไต ทำให้เนื้อไตเกิดการอักเสบเฉียบพลัน หรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าว แต่หากมีอาการเหนื่อยง่าย ปวดสีข้างด้านหลัง บวม ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ หรือปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนโรคไต แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจการทำงานของไต และทำการดูแลรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ก่อนที่เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างถาวร จนกระทั่งกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
กินยาอย่างไรไตไม่พัง ประการแรกคือลดปริมาณการใช้ยาที่ไม่จำเป็นออกไป หรือหากมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับยาที่ท่านกินอยู่ว่าซ้ำซ้อนกัน หรือมีผลกระทบต่อการทำงานของไตหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนซื้อยามากินเอง ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังก็ควรไปพบแพทย์เป็นประจำเช่นเดียวกัน ไม่ควรซื้อยากินเองอย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ไตก็จะอยู่ให้ร่างกายของเราพร้อมใช้งานไปตลอดชีวิต
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : เภสัชกรหญิงแพรพิไล สรรพกิจจานนท์ โรงพยาบาลพระรามเก้า
ภาพ : https://www.verywellmind.com/
สนับสนุนเนื้อหา : Sanook.com