วัยทอง (golden age) เป็นช่วงวัยแห่งความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน เพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สิน แต่ในด้านของสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจนั้นต่างถูกบั่นทอนจากพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น อีกทั้งความบกพร่องทางฮอร์โมนเพศที่ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และภาวะผิดปกติบางประเภทอาจมีผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น สำหรับหญิงหรือชายที่มีอายุระหว่าง 40 – 59 ปีนี้ ต่างก็คือวัยทอง
ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 70 – 80 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีอายุยืนยาวมากขึ้นจากเมื่อก่อน นั่นจึงเป็นสิ่งที่บอกว่าเราควรหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพร่างกายของตนเองเพิ่มขึ้นจากเดิมเช่นกัน และสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยทอง อายุเข้าหลักสี่ ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ
ผู้หญิงในวัยทอง
เมื่ออายุมากขึ้นตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนโหมดเข้าสู่ช่วงของวัยทอง ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนออกมาได้น้อยลง เช่น การมีประจำเดือนน้อยลง หรือหมดประจำเดือน ซึ่งปกติแล้วจะเริ่มหมดตั้งแต่ช่วงอายุ 45 – 50 ปี เป็นต้นไป สาเหตุมาจากรังไข่ไม่ผลิตฮอร์โมนเพศอีกต่อไป โดยฮอร์โมนเพศนี้มีชื่อว่า เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน อีกทั้งความแข็งแรงของกระดูกที่ลดลง และระดับโคเรสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น
ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยทอง
- หลงลืมง่าย สมาธิสั้น
- เหนื่อยง่าย มีอาการใจสั่น เวียนศีรษะง่าย
- กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน
- การเปลี่ยนแปลงทางรูปร่าง ผิวหนังเริ่มเหี่ยวยาน
- นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกตามร่างกายในตอนกลางคืน
ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งจะกระทบ 3 ระบบใหญ่ๆ คือ
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยจะมีความเสี่ยงการเกิดไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- ระบบกระดูก จะพบภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน โดยเฉพาะพบบ่อยกับผู้ที่หมดประจำเดือนแล้ว 5 ปีขึ้นไป
- ระบบอวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ โดยบางคนเมื่อหมดประจำเดือนไปนานแล้ว จะพบอาการต่างๆ เช่น ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะขัด
การดูแลร่างกายสำหรับผู้หญิงวัยทอง
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพผิว
ร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยทองแล้ว ผิวพรรณจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถช่วยชะลอการเหี่ยวยาน และหย่อนคล้อยของผิวได้ ก็คือครีมบำรุง มอยเจอไรเซอร์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพผิวของเรา - การจัดการความเครียดและรู้จักควบคุมอารมณ์
ถ้าเกิดความเครียดควรหากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อผ่อนคลายตัวเอง เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง จัดสวน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้ความบันเทิงและช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตให้แข็งแรงอยู่เสมอ - พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง
- การออกกำลังกายสำหรับวัยทอง
ควรเลือกออกกำลังกายที่ไม่หักโหมมากเกินไป อาจเป็นการรำไทเก็ก เล่นโยคะ เต้นรำ เพื่อให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนส่วนมาก ได้มีสังคมพบเจอเพื่อนฝูงได้อีกทางหนึ่ง - การรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
และควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต เต้าหู้ พืชตระกูลถั่ว ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ ผักใบเขียว ที่เป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูก และสามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงจำพวก อาหารทะเลบางประเภท ไข่แดง หอยนางรม - หมั่นตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ จะทำให้เราทราบถึงระบบภายในร่างกายว่าทำงานเป็นอย่างไรบ้าง โดยเช็คความสมบูรณ์ของร่างกาย ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจมะเร็งปากมดลูก น้ำตาลในเส้นเลือด ตรวจมะเร็งเต้านม (Mammography) และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density) ซึ่งการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อคุณเข้าสู่วัยทอง และถ้าร่างกายได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี สุขภาพของเราก็จะดีและอยู่ได้อย่างยาวนานโดยไม่ต้องกังวล
สารอาหารและวิตามินที่แนะนำสำหรับผู้หญิงวัยทอง
- น้ำมันปลา วันละ 1,000 มิลลิกรัม
- แคลเซียม วันละ 800 – 1,500 มิลลิกรัม
- สารสกัดจากถั่วเหลือง ซึ่งให้ไอโซฟลาโวน วันละ 100 มิลลิกรัม
- สารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินอี วันละ 400 IU วิตามินซี วันละ 1,000 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน วันละ 15 มิลลิกรัม โคเอนไซม์คิวเทนวันละ 50 มิลลิกรัม
ผู้ชายวัยทอง
ตามความเชื่อที่มีกันมานานเชื่อว่าฮอร์โมนเพศชายนั้นจะมีการสร้างไปตลอดชีวิต ส่วนผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้วรังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เกิดอาการต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แต่แท้จริงแล้วเมื่อเข้าอายุ 40 ปีขึ้นไป การสร้างฮอร์โมนเพศชายจะมีการลดลงอย่างสม่ำเสมอทุกปี และเมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงจนถึงระดับหนึ่ง จะทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายไปบางส่วน ทำให้มีอาการต่างๆ คล้ายกับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน
ซึ่งภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายที่กล่าวไปข้างต้น มักจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน และอาการต่างๆ จะเริ่มแสดงออกเมื่อระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงกว่าระดับปกติของร่างกายประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะพบว่าเมื่อผู้ชายอายุย่างเข้า 40 ปี เปอร์เซ็นต์การสร้างฮอร์โมนของเพศชายจะลดลงปีละ 1 และอาการต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการขาดฮอร์โมนเพศชายนั้น จะไม่เกิดขึ้นรวดเร็วและมีอาการมากเหมือนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
อาการที่บอกถึงภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
- เมื่อมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย อวัยวะต่างๆ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายจะเริ่มเสื่อมลง และมีอาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ตามมา
อาการทางด้านร่างกาย
- มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ กล้ามเนื้อต่างๆ ลดขนาดลง ไม่กระฉับกระเฉง ไม่มีแรง และอวัยวะเพศเริ่มไม่แข็งตัวในช่วงตื่นตอนเช้า
อาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์
- หงุดหงิดง่าย มีอาการเครียด เฉื่อยชา ขาดสมาธิในการทำงาน ความจำลดลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
อาการทางด้านระบบไหลเวียนโลหิต
- ในบางคนอาจมีอาการร้อนวูบวาบหรือมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน
อาการทางจิตและทางเพศ
- มีอาการนอนไม่หลับ ตื่นตกใจง่าย สมรรถภาพและความต้องการทางเพศลดน้อยลง หรือไม่มีอารมณ์ทางเพศเลย ในบางคนอาจมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีอารมณ์ทางเพศ และเนื่องด้วยฮอร์โมนเพศชายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เพศ เมื่อระดับฮอร์โมนลดลง จึงไม่เกิดอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งอวัยวะเพศชายเมื่อขาดฮอร์โมนเพศชายไปกระตุ้นแล้วก็มักจะเสื่อมลงตามไปด้วย
ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
- เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศแล้วจะทำให้กระดูกบางลง และอาจเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้กล้ามเนื้อยังจะค่อยๆ ลดขนาดลงโดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ชอบออกกำลังกาย ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
การดูแลร่างกายสำหรับผู้ชายวัยทอง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- มองโลกในแง่ดี พยายามไม่เครียด
- งดสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสัดส่วน ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือนอนแต่หัวค่ำ เพราะฮอร์โมนเพศชายจะสร้างตอนกลางคืน
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เช็คความสมบูรณ์ของร่างกายโดยตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน น้ำตาล ค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density)
สารอาหารและวิตามินที่แนะนำสำหรับผู้ชายวัยทอง
- น้ำมันปลา วันละ 1,000 มิลลิกรัม
- แร่ธาตุสังกะสี วันละ 30 มิลลิกรัม
- แคลเซียม วันละ 800-1,500 มิลลิกรัม
- สารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามิน อี วันละ 400 IU วิตามินซี วันละ 1,000 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน วันละ 15 มิลลิกรัม โคเอนไซม์คิวเทน วันละ 50 มิลลิกรัม
ขอขอบคุณข้อมูล : http://megawecare.co.th/
ภาพ : http://winstonsalemeldercare.com