ไขมันในเลือดสูง

โรคหัวใจ (Heart Disease) หมายถึง โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งย่อยออกเป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคกล้ามเนื้อ หัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น

อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลอ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ. 2555 – 2558) โดยในปี พ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 58,681 คน หรือโดยเฉลี่ยทุกๆหนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตถึง 7 คน

ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเค็ม อาหารหวาน การสูบบุหรี่ หรือ สูดดมควันบุหรี่

อาการของโรคหัวใจ

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของหัวใจ ทำให้อาการของโรคแตกต่างกันออกไป

โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม ลำคอ แขน ท้อง หรือบริเวณหลัง และบางครั้งอาจมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากไขมันหรือแคลเซียมที่สะสมในหลอดเลือด เมื่อมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จะขัดขวางทางเดินเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในหลอดเลือดสูง น้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นช้าผิดปกติ หรือเร็วผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่น บางครั้งอาจแสดงอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน

สาเหตุของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของหัวใจอยู่ก่อนแล้วหรืออาจเกิดกับคนทั่วไปที่มีหัวใจปกติก็ได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการใช้สารเสพติด ยา หรือ อาหารเสริมบางชนิด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน การถูกไฟฟ้าช็อต รวมถึงความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจชนิดอื่น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย และอาการจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ ทำให้รู้สึกเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามหนังตา แขน ขา ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ไม่สามารถนอนราบได้ และตื่นขึ้นมาไอตอนกลางคืน

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ จะมีความแตกต่างกันไปตามความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม อาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่เข้าสู่หัวใจน้อยลง การติดเชื้อ การได้รับยาหรือสารพิษบางชนิด และพันธุกรรม ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนามักเกิดจากพันธุกรรมและอายุที่มากขึ้น และโรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด สาเหตุที่กล้ามเนื้อหัวใจแข็งและมีความยืดหยุ่นน้อยลง อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น เช่น ภาวะธาตุเหล็กมากเกิน เนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ หรือการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด เป็นต้น

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือแสดงอาการมากขึ้นในภายหลังก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มที่มีอาการเขียวและกลุ่มไม่มีอาการเขียว ในกลุ่มที่มีอาการยังไม่รุนแรงมากอาจสังเกตได้ในภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน แต่ในกลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต ทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น

สาเหตุโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ของมารดาที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ การใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิดขณะตั้งครรภ์ รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็ได้

โรคลิ้นหัวใจ อาการของโรคขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น ในกลุ่มที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจ อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติหรือทำงานบกพร่องมาแต่กำเนิด หรือเป็นผลมาจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ ไข้รูมาติก หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ

โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไอเรื้อรังแห้งๆ หายใจหอบเหนื่อย มีไข้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นไข้เรื้อรัง มีผื่นหรือจุดขึ้นตามผิวหนัง รวมถึงขาหรือช่องท้องบวม

สาเหตุของโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต การใช้สารเสพติด รวมถึงการทำหัตถการทางการแพทย์ และมีการเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณหัวใจตามมา

สำหรับการวินิจฉัยโรคหัวใจ
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น ซักถามอาการ และประวัติการเจ็บป่วย รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคหัวใจ หลังจากนั้นจะพิจารณาความเป็นไปได้ แล้วเลือกวิธีวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่นการเอกซเรย์หน้าอก การตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บันทึกการทำงานของหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยเครื่อง CT Scan หรือ MRI หรือตรวจด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจจะรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเป็นในขณะนั้น และรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบและ เช่น การผ่าตัดหัวใจ การทำหัตถการสวนหัวใจ ร่วมกับการใช้ยารักษา รวมถึงการให้คำแนะนำในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความเครียด การสูบบุหรี่ และเพิ่มการออกกำลังกาย โดยแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น ลดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารเค็ม อาหารหวาน

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ

โรคหัวใจชนิดต่างๆ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกันออกไป สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้จากโรคหัวใจทุกชนิด ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจขึ้นอยู่กับโรคหัวใจที่ผู้ป่วยเป็นด้วย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจอาจตามมาด้วยโรคหลอดเลือดในสมองขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้

การป้องกันโรคหัวใจ

การป้องกันโรคหัวใจด้วยตนเองทำได้โดยหมั่นตรวจร่างกายเพื่อควบคุมระดับความดันและไขมันในเลือดเป็นประจำ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหารควรเน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช ลดปริมาณไขมัน โซเดียม และน้ำตาลให้น้อยลง และการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ ควรออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เลิกสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ความเครียดและความเศร้าก็อาจเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้ จึงควรพยายามผ่อนคลายให้มาก รวมทั้งรักษาสุขอนามัยให้ถูกต้องอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

รู้เท่าทัน ภาวะเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด – อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา