วัยทอง,อาการ,อาหารเสริม,ช่องคลอดแห้ง,ช่องคลอดหลวม,วัยหมดประจำเดือน

อาการวัยทอง คือช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้หญิงอีกครั้งหนึ่ง จากที่เคยผ่านกันมาแล้วในช่วงวัยแรกรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ เราควรเรียนรู้ที่จะปรับตัว เตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพจิตและกายที่ดี อีกทั้งยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขอีกด้วย

วัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 45 – 55 ปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่อายุ 50 ปี เมื่อถึงวัยนี้ รังไข่จะเริ่มหยุดทำงานและการตกไข่จะไม่มีอีกต่อไป ทำให้ไม่มีประจำเดือนและฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่อีก ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงตัวนี้มีชื่อว่าเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจต่างๆ ตามมา อาการนี้มีชื่อตามที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปคือ เลือดจะไปลมจะมา

อาการวัยทอง

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยวัน
  • นอนไม่ค่อยหลับ หรือนอนหลับยาก
  • กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปัสสาวะบ่อย
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อและกระดูก
  • กระดูกบางและเปราะง่าย เวลาหกล้มกระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น
  • เส้นผมหยาบแห้งและบางลง หลุดร่วงง่าย ไม่ดกดำเป็นเงางาม
  • ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น สารหล่อลื่นน้อยลง เกิดความเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
  • ผิวหนังบาง แห้งและเกิดเป็นแผลได้ง่าย มีอาการคันตามผิวหนัง และผิวหนังเกิดผื่นแพ้ง่าย
  • มีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกายโดยเฉพาะร่างกายส่วนบน เหนื่อยง่าย ใจสั่นมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน บางคนมีอาการหนาวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ
  • มีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า

วิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

  • ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้คิดในทางบวก และทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานได้พร้อมก้าง ผักใบเขียว เป็นต้น โดยแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปจะเป็นตัวเสริมสร้างกระดูก เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน อีกทั้งควรควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดโดยงดรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
  • ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจการทำงานของตับไต ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแมมโมแกรม ตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density) รวมทั้งตรวจระดับของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง

การให้ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์อย่างไร ?

การให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสกัดจากธรรมชาติ (Bio-identical Hormone) โดยมีโครงสร้างแบบเดียวกันกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย ซึ่งการให้เอสโตรเจนนั้นจะให้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (สำหรับสตรีที่ยังมีมดลูกอยู่) ที่มีคุณสมบัติเดียวกันกับฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติ

ผลของการได้รับฮอร์โมนทดแทน

  • ลดอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด
  • ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด
  • ลดอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า
  • ลดอาการผิวหนังอักเสบ ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและชุ่มชื้น
  • ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น และอาจช่วยเพิ่มระดับของความจำ
  • เพิ่มความหนาแน่นของกระดูก เมื่อได้รับร่วมกับแคลเซียม และมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ผลของการได้ฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างกันไปในสตรีวัยทองแต่ละคนอันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน

อาการข้างเคียงของการรับฮอร์โมนทดแทน

  • มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
  • มีอาการเจ็บคัดเต้านม ซึ่งอาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น หลังจากนั้นจะลดลงและหายไป
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด พบได้บ่อย และทำให้ไม่อยากใช้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนใหญ่จะพบในช่วง 3 – 6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสตรีวัยทองส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายอยู่แล้ว ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุของการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างอาหาร การออกกำลังกาย และอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนทดแทนจะให้ในปริมาณต่ำเท่ากับระดับปกติเท่านั้น ไม่มีการให้เกินขนาด ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงมีน้อย

วัยทอง อาการ อาหารเสริม ช่องคลอดแห้ง ปวดข้อ

ข้อมูลโดย : ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ขอขอบคุณข้อมูล : https://goodlifeupdate.com/lifestyle/104373.html
ภาพประกอบ : https://www.rcpsych.ac.uk/

เตรียมพร้อมรับมือ วัยทอง ! ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของผู้หญิง
Tagged on: