วัยทอง,วัยทองหญิง,วัยทองชาย,อาการวัยทอง,รักษาวัยทอง,อาหารเสริมวัยทอง,

วัยทองคืออะไร?

แพทย์หญิง ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์และหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้อธิบายว่า หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าวัยทองจะสามารถเกิดขึ้นได้กับเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ววัยทองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยความหมายที่แท้จริงของวัยทองก็คือ วัยที่ฮอร์โมนเพศของทั้งเพศหญิงและเพศชายเริ่มหมดอายุขัย ไม่มีการทำงาน ในเพศหญิงจะสังเกตได้จากประจำเดือนที่หมดไป หรือการเว้นช่วงห่างหายของประจำเดือนเป็นระยะเวลานาน ในเพศชายก็จะมีการแสดงออกโดยสังเกตได้จาก ในบางคนจะเริ่มอ้วนง่ายขึ้น ผอมยาก เริ่มลงพุง ความกระตือรือร้นเริ่มหายไป อารมณ์แปรปรวนควบคุมยาก ความอดทนน้อยลง ผู้หญิงไทยหรือหญิงเอเชียส่วนใหญ่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองเมื่ออายุประมาณ 48 – 52 ปี ส่วนผู้ชายฮอร์โมนเพศจะเริ่มลดลงและสามารถเข้าสู้วัยทองได้ตั้งแต่อายุประมาณ 40 เป็นต้นไป

การเปลี่ยนแปลงที่ตามมาจากการเกิดวัยทอง

       เมื่อเข้าสู่วัยทอง ในเพศหญิงนั้นหมายความถึงการที่รังไข่สิ้นอายุขัย ไม่มีการหลั่งฮอร์โมนเพศ ซึ่งโดยปกติแล้วฮอร์โมนเพศจะคอยช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เมื่อไร้ซึ่งฮอร์โมนเพศ ผิวที่เคยเต่งตึงอิ่มน้ำจะเริ่มแห้ง มีอาการคันตามตัว ผมเริ่มแห้งกรอบ ผมร่วง ในลักษณะของอาการภายใน ก็จะมีเยื่อบุช่องคลอดที่เริ่มทำงานได้ไม่ดีเท่าที่เคย อารมณ์ความต้องการทางเพศลดน้อยลง หลังกิจกรรมทางเพศมีอาการแสบร้อนบริเวณช่องคลอด มีอาการเจ็บและมีเลือดออก เริ่มควบคุมปัสสาวะไม่ได้ เพราะเยื่อบุที่รองรับกระเพาะปัสสาวะในช่องคลอดเริ่มแห้งเนื่องจากขาดฮอร์โมน อาจมีอาการไอ จาม ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย มีการติดเชื้อ มีอาการตกขาวที่เป็นแล้วหายยาก และเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงที่คอยดูแลเกี่ยวกับกระดูกช่วยให้กระดูกแข็งแรงหมดไป กระดูกก็จะเริ่มพรุน

วิธีเตรียมตัวรับมือกับปัญหาวัยทอง

แพทย์หญิง ธิศรา วีรสมัย ได้ให้คำแนะนำว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับการเข้าสู่วัยทองนั้นสามารถเริ่มทำได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในการรับประทานอาหารก็ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง จำพวกเครื่องใน ไข่แดง แกงกะทิ เน้นรับประทานอาหารประเภทต้ม ปิ้ง ย่าง ลวก ที่ไม่มีน้ำมัน ในส่วนของการดูแลกระดูก เนื่องจากกระดูกที่สามารถเกิดอาการบางและพรุนส่วนมากจะเป็นกระดูกท่อนใหญ่ๆ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก ที่มีความเสี่ยง การดูแลให้เริ่มจากการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมกระดูก คือการออกกำลังกายในแนวดิ่ง หรือ Weight-bearing exercises เช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ เพื่อให้เนื้อกระดูกแข็งแรง และเริ่มรับประทานแคลเซียมเพิ่มโดยสามารถเริ่มทานได้ตั้งแต่อายุ 40 ปี

สำหรับผู้ที่เป็นวัยทองอยู่แล้ว ก็สามารถดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงได้เช่นกัน โดยอันดับแรกอาจจะต้องมีการพิจารณาก่อนว่าอาการวัยทองนั้นจำเป็นต้องรับประทานยาปรับฮอร์โมนหรือไม่ ในบางคนอาจมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในครอบครัว หรือเป็นโรคที่มีปัญหาอยู่แล้ว เช่น มะเร็งเต้านม คนกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้ อันดับสอง หากผู้ที่เป็นวัยทองนั้นต้องการที่จะใช้ฮอร์โมน ก็ต้องรับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมนและมีวินัยในการใช้เสมอ ซึ่งตัวฮอร์โมนที่ใช้ในวัยทองนั้นก็มีทั้งรูปแบบรับประทาน แบบชนิดทา และแบบแผ่นแปะ ทั้งนี้ก่อนที่จะใช้ก็ต้องมีการเลือกฮอร์โมนที่เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนจึงควรที่จะไปพบแพทย์ อันดับสามคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และสิ่งทีสำคัญที่สุดก็คือการดูแลสภาพจิตใจของเรา เนื่องจากวัยทองนั้นเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลหรือหวาดกลัวแต่อย่างใดและสามารถเป็นได้ทุกคน

ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยทอง และผู้ที่อยู่ในวัยทองจึงควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเต้านมแมมโมแกรม การตรวจมวลกระดูก ตรวจระดับไขมันในเลือด และตรวจระดับการทำงานของตับว่าทำงานปกติหรือไม่

วัยทอง, อาการ, อาหารเสริม, ช่องคลอดแห้ง, ปวดข้อ

ขอขอบคุณข้อมูล : แพทย์หญิง ธิศรา วีรสมัย
สูตินรีแพทย์และหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย
โรงพยาบาลพญาไท 1
ภาพประกอบ : thaiosa.com

รับมืออย่างไร เมื่อเข้าสู่วัยทอง