สมุนไพรลดความดัน เบาหวาน ไขมัน

ปัจจุบันการรักษาโรคด้วยสมุนไพรโบราณนั้นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้สมุนไพรบางชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปแล้วกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เพื่อใช้รักษาโรคบางโรคโดยเฉพาะโรคที่ต้องอาศัยการรับประทานยาตลอดชีวิตเป็นการรักษา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผู้ป่วยหลายคนจึงพยายามหาวิธีรักษาตนเอง

การใช้พืชสมุนไพรลดความดันจึงเป็นทางเลือกที่ผู้ป่วยหลายท่านคาดหวังว่าจะสามารถช่วยลดการใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาลงได้ เพราะพืชสมุนไพรเหล่านี้มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่าย โดยสมุนไพรเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง ก็ไปดูกันเลย

สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง

กะเพรา

ความเครียดเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง จากข้อมูล Journal of Ayurveda and Integrative Medicine พบว่าสารสกัดจากใบกะเพรามีคุณสมบัติระงับประสาท และช่วยคลายความเครียดได้ จึงสามารถช่วยลดความดันได้ แต่ก็ยังไม่มีผลวิจัยหรือการทดลองใดที่ยืนยันได้ว่ากัเพราช่วยในเรื่องของการลดความดันโลหิตสูงได้โดยตรง

นักธรรมชาติบำบัดได้แนะนำให้ใช้ใบกะเพราในการดื่มเป็นชา ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง เนื่องจากในใบกะเพราไม่มีสารคาเฟอีนจึงสามารถนำมาดื่มได้ทุกวัน

ข้อควรระวัง

  • กะเพรานั้นหากรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้หรือท้องเสียได้
  • สำหรับสตรีที่มีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะเพราในปริมาณมาก เพราะได้มีงานวิจัยพบว่า กะเพราสามารถยับยั้งการเกาะตัวของตัวอ่อนกับผนังมดลูกในสัตว์ทดลองได้
  • ผู้ที่รับประทานยาลดการแข็งตัวของเลือดไม่ควรบริโภคกะเพราในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยที่พบในใบกะเพรามีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เลือดหยุดไหลได้ยากขึ้น

กระเทียม

เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติลดความดัน โดยมีสาระสำคัญชื่อ “อัลซิลิน” ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และช่วยขยายหลอดเลือดส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงได้

มีผลวิจัยของการทดลองรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วยกระเทียมผงระบุว่า ค่าเฉลี่ยของความดันตัวบนหรือความดันตัวในหลอดเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) และความดันโลหิตตัวล่างหรือความดันในหลอดเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่ากระเทียมสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจากสาเหตุความดันโลหิตสูงได้

  • ในบางคนอาจมีอาการแพ้กระเทียม ทำให้เกิดอาการคะคายเคืองที่ผิวหนัง เป็นผื่นคัน ปากบวม หน้าบวมได้
  • สำหรับสตรีที่มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ
  • ผู้ที่รับประทานยาลดอาการแข็งตัวของเลือดควรระวังในการรับประทานกระเทียม เพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลได้ยาก
  • ผู้ที่รับประทานกระเทียมเป็นประจำ มักมีกลิ่นปากและกลิ่นตัว อาจมีอาการแสบร้อนในช่องปาก กลางอก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องร่วงและเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้

กระเจี๊ยบดง

หนึ่งในสมุนไพรที่มักนิยมนำมาทำเป็นน้ำสมุนไพรสำหรับดื่มเพื่อแก้กระหาย ซึ่งกระเจี๊ยบแดงมีสารสำคัญ คือ แอนโทไซยานิน (anthocyanin) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยในการทำงานและสร้างความยืดหยุ่นเพิ่มความแข็งแรงแก่หลอดเลือด ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

มีงานวิจัยระบุว่า ดื่มชากระเจี๊ยบ 2 – 3 ครั้งต่อวัน ช่วยลดความดันโลหิตตัวล่างลงได้ 7.2 – 13 % และยังมีผลการวิจัยทางคลินิกพบว่า การใช้กระเจี๊ยบแดงแห้งขนาด 2 – 10 กรัมต่อวัน ต้มเป็นน้ำดื่ม หรือรับประทานในรูปแบบของยาเม็ดกระเจี๊ยบแดงขนาด 450 มิลลิกรัมต่อวัน (ที่มีสารแอนโทไซยานินอย่างน้อย 250 มิลลิกรัม) นั้นสามารถลดความดันโลหิตตัวบนได้

ข้อควรระวัง

  • เนื่องจากกระเจี๊ยบแดงมีคุณสมบัติเป็นยาระบาย จึงควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจทำให้ท้องเสียได้
  • เมื่อต้องรับประทานร่วมกับยาขับปัสสาวะให้ระวัง เพราะกระเจี๊ยบแดงมีคุณสมบัติขับปัสสาวะ การรับประทานควบคู่กับตัวยาจะไปเสริมฤทธิ์การขับปัสสาวะให้มากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายได้
  • กระเจี๊ยบแดงสามารถลดการดูดซึมของยาแก้ปวดพาราเซตามอล ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงร่วมกับการรับประทานยา
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับไตควรระวังในการรับประทานกระเจี๊ยบแดง เนื่องจากเป็นพืชที่มีโพแทสเซียมสูง

ขิ

ส่วนเหง้าของขิงนั้นมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งความเผ็ดร้อนนี่เองที่สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ และยังมีผลช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นเดียวกันกับการรับประทานยาลดความดัน จึงนิยมนำขิงมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน อีกทั้งยังนำมาสกัดเป็นอาหารเสริม และผลิตเพื่อเป็นยารักษาโรคความดันอีกด้วย

วิธีนำขิงมารับประทานเพื่อลดความดันนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการนำเหง้าขิงแก่สดมาคั้นน้ำให้ได้ครึ่งถ้วยต้มกับน้ำเปล่า 2 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรืออาจเติมเกลือและมะนาวเพื่อเพิ่มรสชาติได้ หรือจะใช้ผงขิง 1 – 2 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อนดื่มบ่อยๆ หรือนำขิงสดมาฝานต้มกับน้ำรับประทานก็ได้เช่นเดียวกัน

ข้อควรระวัง

  • การรับประทานขิงมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงขึ้นกับร่างกายได้ เช่น อาจทำให้รู้สึกแสบร้อนท้องและกลางอก อึดอัด ไม่สบายตัว และอาจเสี่ยงกับภาวะเลือดออกได้
  • เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด การรับประทานเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • สำหรับสตรีที่มีครรภ์หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
  • ขิงมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งของน้ำดี ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องได้หากเกิดการอุดตันของท่อน้ำดี จึงควรระวังในการรับประทานสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
  • ผู้ที่รับประทานยาลดการแข็งตัวของเลือดอยู่ ควรระวังในการรับประทานยาร่วมกับขิง เพราะอาจทำให้เลือดหยุดไหลยากขึ้น

ถ้าตรวจพบว่าความดันโลหิตมีค่าสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท แพทย์จะให้ยารับประทานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น จำกัดอาหารที่รับประทานไม่ให้เค็มจนเกินไป งดการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด สำหรับการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียที่จะตามมาก่อนตัดสินใจรักษา

จะเห็นได้ว่าสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ช่วยลดความดันโลหิตสูงนั้น ส่วนมากเป็นพืชผักสวนครัวที่หลายคนรู้จัก และนิยมนำมารับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งสรรพคุณต่างๆ ของสมุนไพรทั้งหลายนี้ บางชนิดได้มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยอมรับ ในขณะที่บางชนิดก็ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจน แต่เป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมและปฏิบัติสืบต่อกันมา อีกทั้งยังเป็นข้อมูลการรักษาจากการแพทย์ทางเลือกในสาขาต่างๆ

ฉะนั้น การนำสมุนไพรมาใช้เพื่อรักษาร่วมกับการรับประทานยาแผนปัจจุบัน จึงต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้สมุนไพรเสียก่อน และควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่องจึงจะปลอดภัยที่สุด

ที่มาของข้อมูล

  • ดร.นพ. สมภพ สูอำพัน, การแพทย์ทางเลือกกับการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, การประชุมวิชาการศูนย์การแพทย์กาณจนาภิเษก ประจำปี 2558
  • ยิ่งศักดิ์ จิตตะโคตร, การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงด้วยเทคนิคการแพทย์ผสมผสาน, บทความสำนักการแพทย์ทางเลือก
  • พนิดา ใหญ่ธรรมสาร, กระเจี๊ยบแดงกับโรคความดันโลหิตสูง, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2561

ขอขอบคุณข้อมูล : honestdocs.com
ภาพ : dengikurd.com

สมุนไพรช่วยลดความดันมีอะไรบ้าง และควรใช้อย่างไรจึงจะได้ผลดี
Tagged on: