“เย็นนี้ กินหมูกระทะกัน” หากจะสังสรรค์กันทีไร หมูกระทะมักจะเป็นตัวเลือกแรกที่ทุกคนนึกถึง เพราะนอกจากจะกินได้ไม่อั้น อิ่มไปถึงพรุ่งนี้เช้าแล้ว ยังราคาย่อมเยา สบายกระเป๋าสุดๆ เลยทำให้หลายคนน้ำหนักขึ้นจากเมนูนี้ได้ไม่ยาก
แต่อันตรายไม่ได้มีเพียงแค่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หากไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจจนทานมากเกินไป อาจส่งผลเสียให้กับร่างกายมากกว่าโรคที่หลายๆคนทราบดีอย่าง “มะเร็ง” อีกด้วย
อันตรายจากหมูกระทะที่ไม่ได้มาตรฐาน
1. เนื้อหมู
ใครที่ชอบทานเนื้อหมู จะเห็นได้ว่าร้านหมูกระทะจะหมักหมูมาเรียบร้อยแล้ว แต่หมูเหล่านี้หากซื้อมาจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน แล้วผ่านการปิ้งย่างที่ไม่สุก 100% ทานเข้าไปอาจมีความเสี่ยงรับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยอาการที่พบคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน หูหนวก ชัก หรืออาจเป็นอัมพาต บางรายอาจสายตาพร่ามัว ปอดอักเสบ และหูหนวกได้ นอกจากนี้ยังมีเชื้ออื่นๆ อีกมากมาย หากรับประทานโดยใช้ความร้อนที่ไม่มากเพียงพอจะฆ่าเชื้อเหล่านั้นได้
2. ผ้าขี้ริ้ว
มีหลายคนที่โปรดปรานส่วนของผ้าขี้ริ้วมาก ยิ่งขาวเท่าไหร่ ยิ่งน่ากิน แต่ในความเป็นจริงแล้วผ้าขี้ริ้วนั้นมีสีค่อนข้างดำเข้ม (จึงถูกเรียกว่าผ้าขี้ริ้ว) โดยกว่าจะเป็นสีขาวหน้าตาน่ารับประทาน ต้องผ่านการฟอกสีมาก่อน ซึ่งสารฟอกขาวนี่แหละที่อาจตกค้างและทำให้ผู้ที่ทานเข้าไปมีอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง หากผู้ที่ทานมีอาการแพ้สารฟอกขาว หรือเป็นผู้ป่วยที่มีโรคหอบหืดเป็นโรคประจำตัวด้วยแล้วนั้น จะส่งผลทำให้อาการแย่ลง อาจจะช็อคหมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิต (หากรับประทานเข้าไปมากๆ)
3. อาหารทะเล
หลายคนคงทราบกันว่าหากเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่ไม่ได้คุณภาพนั้น อาจมีการใช้สารฟอร์มาลีนในการรักษาความสดของอาหารทะเล และหากรับประทานอาหารทะเลที่มีสารฟอร์มาลีนตกค้างมากๆ อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ไต หรืออาจเป็นสาเหตุของอาการสมองเสื่อมได้ นอกจากนี้หากผู้ทานมีอาการแพ้สารดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ทานมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
4. อาหารแปรรูป
หลายคนชอบรับประทานไส้กรอก ลูกชิ้นต่างๆ ที่อาจมีสารบอแรกซ์ (Borax) เป็นส่วนผสมทำให้อาหารเหล่านั้นมีความกรอบอร่อย และหากได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ส่งผลต่อการทำงานของระบบไต อาจทำให้ไตวาย หรือกระทบต่อการทำงานของสมองได้
กรมอนามัยระบุว่า การรับประทานอาหารปิ้งย่างหรือรมควันเป็นประจำเสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย 3 ชนิด
1. สารไนโตรซามีน (Nitrosamines)
สารไนโตรซามีน สามารถพบได้ในอาหารแปรรูปบางประเภทซึ่งมีส่วนประกอบของวัตถุกันเสีย ปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรทซึ่งทำให้เนื้อมีสีชมพู เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ทำให้เสี่ยงเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร
2. สารไพโรไลเซต (Pyrolysates)
สารชนิดนี้จะพบได้มากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง ย่าง ซึ่งสารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) 6-100 เท่า
3. สารพีเอเอช หรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Po;ycyclic Aromatic Hydrocarbon)
สารชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับสารที่เกิดในควันไฟ ควันบุหรี่ ไอเสียของเครื่องยนต์ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะพบสารนี้ในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง หรือรมควัน ส่วนของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ เช่น หมูปิ้งติดมัน ไก่ย่างติดมัน หากรับประทานเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ซึ่งจากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2553 มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับในประเทศไทย 23,140 ราย และเสียชีวิต 20,334 ราย คิดเป็นอัตราการเสียฃีวิต 55 คนต่อวัน หรือ 2 คนต่อชั่วโมง
ทานหมูกระทะให้ปลอดภัย ทำได้ไม่ยาก
1. โดยปกติของการรับประทานหมูกระทะ เนื้อที่นำมาปิ้งย่างมักจะมีขนาดไม่เท่ากัน บางชิ้นหนา บางชิ้นบาง การดูเพียงแค่ขอบนอกของเนื้ออาจไม่สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าเนื้อดังกล่าวสุกแล้วหรือไม่ ควรใช้ช้อนหั่นเนื้อตรงกลางออก เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อสุกพร้อมรับประทานหรือยัง
2. ควรมีการแยกตะเกียบสำหรับใช้รับประทาน ออกจากตะเกียบหยิบชิ้นเนื้อปิ้งย่าง เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
3. ควรรับประทานอย่างช้าๆ เพื่อสังเกตว่าอาหารสุกหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่หมูกระทะมักเป็นรับประทานในรูปแบบของบุฟเฟ่ต์ ทำให้หลายคนรีบร้อนในการรับประทาน
4. สำหรับกรณีที่ทำรับประทานเองที่บ้าน ควรมีการทำความสะอาดตะแกรงปิ้งย่างด้วยการแช่น้ำ ล้างและขัดให้สะอาด จากนั้นนำมาผึ่งแดดอย่างน้อย 4 – 8 ชั่วโมง ก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าหมูกระทะทุกร้านจะอันตราย และห้ามรับประทาน เพียงแต่ก่อนทานควรเลือกร้านที่สะอาด คุณภาพของอาหารดี ถูกหลักอนามัย ราคาไม่ถูกมากจนเกินไป และที่สำคัญคือควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ไม่ทานบ่อยเกินไป เลือกทานทั้งเนื้อและผัก ทานอย่างหลากหลาย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : sanook.com, สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์,กรมควบคุมโรค,กรมอนามัย,PPTV
ภาพ : lady108.com