โรคเบาหวาน, อินซูลิน

ภญ.ชัยวรรณี เกาสายพันธ์
ฝ่ายเภสัชกรรม Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นโดยตับอ่อน มีหน้าที่สำคัญในการนำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายที่ต้องการพลังงาน แต่ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน  การสร้างเซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดที่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากอาหารไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดฮอร์โมนอินซูลิน จึงเป็นเหตุทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ เบื่ออาหาร มีโรคแทรกซ้อนง่าย เช่น โรคติดเชื้อ เป็นแผลหายยาก โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคตา

เมื่อไรถึงต้องใช้อินซูลิน

– ผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

– ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับไต และรักษาโดยยาที่รับประทานแล้วไม่มีผล

ชนิดของอินซูลิน

  1. อินซูลินหมู มาจากตับอ่อนของหมู
  2. อินซูลินวัว มาจากตับอ่อนของวัว
  3. อินซูลินหมูและวัว เป็นอินซูลินที่ได้จากส่วนผสมของตับหมูและวัว
  4. อินซูลินคน เป็นอินซูลินที่ได้มาจากวิธีพันธุวิศวกรรมทางชีวสังเคราะห์ หรือกระบวนการชีวเคมีสังเคราะห์ จึงสามารถทำให้เหมือนอินซูลินในร่างกายคนได้ (อินซูลินคน เป็นอินซูลินที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด และทำให้เกิดอาการแพ้เนื่องจากภูมิต้านทานทางฤทธิ์ของยาน้อยกว่าอินซูลินชนิดอื่นๆ)

ลักษณะของอินซูลิน

– อินซูลินขุ่น จะมีตะกอนเล็กๆ แขวนลอยอยู่ จะออกฤทธิ์นานประมาณ 16 – 20 ชั่วโมง

– อินซูลินใส จะมีลักษณะเหมือนน้ำบริสุทธิ์ ใส ไม่มีสี ให้ผลอย่างรวดเร็วหลังการฉีดประมาณ 30 นาที จะออกฤทธิ์ 6 ชั่วโมงโดยประมาณ

ทำไมต้องใช้อินซูลินโดยวิธีฉีด

หากใช้อินซูลินโดยการรับประทานนั้น ตัวยาจะถูกทำลายโดยน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหาร จึงต้องใช้วิธีการฉีดเข้าร่างกายโดยตรง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนา “ปากกาฉีดอินซูลิน” ให้สามารถใช้ได้อย่างสะดวก เกิดความเจ็บปวดขณะฉีดน้อยลง มีความแม่นยำสูง ทำให้ผู้ป่วยไม่กลัวการฉีดอินซูลินอีกต่อไป

วิธีฉีดอินซูลิน

โดยปกติแล้วจะถูกฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แต่อย่างไรก็ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา

การเตรียมยาอินซูลิน

ให้ตรวจดูลักษณะของยา หากเป็นชนิดน้ำใส ต้องไม่มีความหนืด ใส ไม่มีสี หากป็นชนิดน้ำขุ่นแขวนตะกอน ให้คลึงขวดยาบนฝ่ามือทั้งสองข้างเบาๆ เพื่อให้ยาผสมกันทั่วทั้งขวด และห้ามเขย่าขวดเด็ดขาด เพราะการเขย่าจะทำให้ยาเกิดฟอง

สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาอินซูลินชนิดน้ำขุ่นและน้ำใสในเวลาเดียวกัน ให้ดูดยาชนิดน้ำใสก่อนเสมอ เพราะจะสามารถสังเกตว่าอินซูลินชนิดน้ำใสมีลักษณะผิดปกติอย่างไร และเมื่อดูดยาสองชนิดผสมในเข็มเดียวกันแล้ว ควรจะฉีดยาทันทีหรือภายใน 15 นาที เพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป

ฉีดอินซูลินตรงไหนดี

สามารถฉีดยาได้ที่บริเวณหน้าท้อง สะโพก หน้าขาทั้ง 2 ข้าง ต้นแขนทั้ง 2 ข้าง และที่สำคัญ ต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดด้วย เมื่อดึงเข็มออกให้ใช้สำลีกดเบาๆ ห้ามนวดบริเวณที่ฉีด ในการฉีดครั้งต่อไปควรฉีดห่างจากจุดเดิม 1 นิ้ว และควรฉีดในบริเวณเดียวกันให้ทั่วก่อนค่อยไปฉีดบริเวณอื่น ที่สำคัญ ห้ามฉีดซ้ำบริเวณเดิมมากกว่า 1 ครั้ง ต่อ 1 – 2 เดือน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นง่ายต่อการติดเชื้อ จึงควรดูแลรักษาอนามัยของตนให้สะอาด โดยเฉพาะฟันและเท้า หากมีบาดแผล รอยข่วน หรือแผลเปื่อยต้องยิ่งระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ

อาการข้างเคียงและข้อควรปฏิบัติ

  1. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีสาเหตุมาจากการได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ หรือรับประทานอาหารมากเกินไป จะทำให้ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวง่าย คลื่นไส้ ปวดหัว อ่อนเพลีย มึนงง หากเป็นลมให้นำส่งโรงพยาบาลทันที
  2. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีสาเหตุมาจากการได้รับอินซูลินมากจนเกินไป หรือรับประทานอาหารน้อยเกินไป ทานผิดเวลา หรือเว้นช่วงระหว่างมื้อนานเกินไป ออกกำลังกายหรือทำงานมากกว่าปกติ จะทำให้มีอาการปวดหัว เหงื่อออก กระสับกระส่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย เดินเซ หงุดหงิดง่าย ชาในปากหรือริมฝีปาก มองเห็นภาพไม่ชัด หากมีอาการเหล่านี้ให้ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือรับประทานสิ่งที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม (ห้ามใช้น้ำตาลเทียม) และพบแพทย์ทันที

ข้อควรระวังในการใช้อินซูลิน

ในการใช้อินซูลินควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หากเคยมีประวัติแพ้อินซูลินที่ทำจากหมูหรือวัว กำลังตั้งครภ์ หรือให้นมบุตร รวมทั้งผู้เป็นโรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์และโรคติดเชื้อ และหากกำลังใช้ยาอื่นอยู่ให้แจ้งแพทย์และเภสัชกรด้วย ห้ามรับประทานยาภูมิแพ้หรือยาแก้หวัดที่มีน้ำตาลและแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานควรจะมีบัตรประจำตัวระบุชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ชื่อแพทย์ประจำตัว ชื่อของชนิดและยาอินซูลินที่ใช้พกติดตัวเสมอ

เคล็ดลับการเก็บรักษายาอินซูลิน

โดยปกติแล้วอินซูลินจะเก็บในที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาสเซลเซียส เก็บได้นานเท่ากับอายุของยาที่ระบุไว้ข้างขวด แต่สามารถเก็บในที่อุณหภูมิห้อง (ประมาณ 25 องศาเซลเซียส) ได้นานประมาณ 1 เดือน สำหรับยาอินซูลินที่ถูกเก็บไว้ในที่อุณหภูมิสูง เช่น กลางแดดจัด หรือที่อุณหภูมิต่ำมากๆ เช่น ในช่องแช่เข็ง ไม่ควรนำมาใช้เนื่องจากยาเสื่อมคุณภาพ

ผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากการรับยาอินซูลินตามแพทย์สั่งแล้ว ควรหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอย่าลืมดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด เท่านี้ทุกท่านก็สามารถมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : www.goodnet.org

“โรคเบาหวาน” กับการใช้ยา “อินซูลิน”