สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้เปิดเผยสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่าทุกๆ 6 วินาที จะมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1 ราย ในปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 415 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2588 จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นถึง 642 ล้านคน โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งคุณสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงลงได้
นายแพทย์จิระพงศ์ อุกะโชค แพทย์อายุรศาสตร์ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน-ไทรอยด์) โรงพยาบาลนนทเวช เล่าให้ฟังว่า โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
- พบในเด็กและวัยรุ่น โดยพบมากในชาวตะวันตก ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องพึ่งการฉีดอินซูลินตลอดชีวิต เนื่องจากร่างกายขาดอินซูลินถาวร ร่างกายค่อนข้างผอม
- พบในผู้ใหญ่ เป็นเบาหวานที่พบได้ทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในประเภทนี้ สาเหตุเกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน คนไข้มักจะอ้วน
- เกิดจากโรคต่อมไร้ท่อ ร่างกายสร้างสเตียรอยด์มากเกินไป หรือการใช้ยาบางอย่างที่มีสเตียรอยด์ อาการจะดีขึ้นเมื่อทำการรักษาหรือหยุดยา
- เบาหวานที่พบในระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นผลมาจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ภาวะของโรคจะดีขึ้นหลังคลอด อย่างไรก็ตามคุณแม่จะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้อีก
จะรู้ได้อย่างไรว่า เราเข้าขั้นเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ ?
ลองสังเกตว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้หรือไม่? เช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลง บางรายถึงขั้นไตวายและเสียชีวิต บางรายจะมีผื่นอับชื้นที่เกิดจากเชื้อราตามซอกพับ มีตกขาว ชาตามปลายมือปลายเท้า ตาพร่ามัว
โรคแทรกซ้อนที่น่ากังวล
สิ่งที่น่าวิตกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานคือ โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยคือ
- โรคแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวานที่ไต พบโปรตีนปะปนออกมากับปัสสาวะ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ไตจะทำงานได้น้อยลงและเกิดภาวะไตวายในที่สุด ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองได้จากการตรวจปัสสาวะ
- โรคแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวานในจอประสาทตา มีเลือดออกในดวงตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม ส่งผลให้ตาบอด ซึ่งหากมีการตรวจคัดกรองพบภาวะเบาหวาน จะช่วยป้องกันภาวะตาบอดได้
- โรคเส้นประสาทชา เมื่อเกิดการกระทบกระแทกทางร่างกาย คนป่วยจะไม่มีความรู้สึกเจ็บ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย และบาดแผลรักษาได้ยาก เนื่องจากการหมุนเวียนของเลือดไม่ดี ในบางรายแม้ไม่มีบาดแผลก็พบอาการเลือดไม่ไหลเวียนได้เช่นเดียวกัน จึงมีคนป่วยที่ต้องสูญเสียอวัยวะไปจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังพบอาการอัมพาตและโรคหัวใจได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นโรคหัวใจจะไม่มีอาการเจ็บเตือน ทำให้เกิดอาการหัวใจวายฉับพลัน รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย
กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป และมีภาวะอ้วนลงพุง (ผู้หญิงรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร และผู้ชายรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร) ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งพนักงานออฟฟิศก็ถือว่ามีภาวะเสี่ยงเช่นกัน รวมถึงผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน และผู้ป่วยที่ใช้ยาเสตียรอยด์ หรือคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักของเบาหวานคือพันธุกรรม ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องควรตรวจคัดกรองเบาหวาน
ปรับพฤติกรรมอย่างไรถึงจะเลี่ยงเบาหวานได้
- ระมัดระวังการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และสำหรับผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของโภชนากรเพื่อการรักษาที่ได้ผล
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนมีเหงื่อซึม หัวใจเต้นแรง อย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน หรือชะลอการเป็นเบาหวานออกไปได้
- สุดท้ายคุณหมอแนะนำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี คือ
1. การตรวจน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้า โดยงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจเลือด
2. การตรวจเลือด ณ เวลาใดๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องงดอาหาร
3. การตรวจน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดงเพราะหากพบภาวะโรคเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถทำการรักษาและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้อย่างทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ และ โรงพยาบาลนนทเวช
เรียบเรียงโดย : ถั่งเช่า ม.เกษตร, คอร์ดี้ไทย