กระดูกพรุน ,โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน มักจะพบในผู้ป่วยสูงวัย อายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากในช่วง 5 ปีแรกของผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะสูญเสียมวลกระดูกมาก ทำให้เนื้อกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว

โรคกระดูกพรุนยังพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ หรือผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร ซึ่งมีความผิดปกติในการดูดซึมแคลเซียม อีกทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับและไตก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนเช่นกัน
ตัวอย่าง 3 โรคร้ายที่เมื่อเป็นแล้วทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน

1.โรคเบาหวาน (Diabetes)

ภาวะกระดูกพรุนที่เกิดจากเบาหวานทั้ง 2 ประเภท

โรคเบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) ซึ่งเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ โดยภาวะนี้มักเป็นมาตั้งแต่กำเนิด และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งจะพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ

ผลกระทบต่อกระดูกจากโรคเบาหวานประเภทที่ 1 คือ จะทำให้น้ำตาลจับตัวกับเนื้อเยื่อในเซลล์ต่างๆ เช่น คอลลาเจน แล้วเกิดปฏิกิริยาไกลเคชัน หรือ AGEs (Advanced Glycation End Products) ทำให้เลือดไม่ไหลเวียน เกิดการอุดตันของเส้นเลือด โดยจะพบว่าโรคเบาหวานชนิดนี้จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความเสื่อมของเซลล์ในกระดูก เกิดภาวะกระดูกพรุน ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปถึงกระดูกหักได้ เหตุเนื่องมาจากมีน้ำตาลในเลือดสะสมสูงเกินไป

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับผลกระบจากการได้รับยากลุ่ม TZD – Pioglitazone (ยากลุ่มไพโอกลิตาโซน) เป็นเวลานานเพื่อรักษาอาการ โดยยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งการสร้างของมวลกระดูกเกิดใหม่เป็นเหตุให้กระดูกแตกเปราะ อีกทั้งยังทำให้มวลกระดูกเสื่อม บางลง และหักได้ง่ายอีกด้วย และเมื่อตรวจสแกนที่เครื่องตรวจมวลกระดูกจะพบว่ามีจุดสีขาวในมวลกระดูกเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะกระดูกพรุนของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2

2. โรคไต (Kidney Disease)

โดยปกติแล้วไตที่อยู่ในภาวะปกติจะทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากกระแสเลือด ซึ่งปัสสาวะคือของเสียและน้ำส่วนเกินนั้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากกระแสเลือดได้ ส่งผลให้ของเสียและของเหลวคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ในระยะแรกผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังนั้นอาจจะยังไม่พบอาการผิดปกติ แต่ในระยะสุดท้ายผู้ป่วยต้องล้างไตหรือเข้ารับการเปลี่ยนไตจึงจะมีชีวิตอยู่ได้

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีภาวะฟอสเฟตคั่ง ร่างกายขับสารฟอสเฟตออกไม่ได้ ทำให้มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มมากขึ้นจนทำให้ค่าแคลเซียมในเลือดลดต่ำลงมาก ซึ่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่คอยปรับความสมดุลของแร่ธาตุต่างๆ และความหนืดในเลือดของคนที่ร่างกายปกติ

ปกติเมื่อค่าฟอสเฟตในเลือดสูงเกินร่างกายจะขับฟอสเฟตออก โดยการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมาตลอดเวลา เพื่อสร้างสมดุลกรด – เบสของเลือด ในภาวะที่เลือดมีความเป็นกรดมากเกินไป จะทำให้การสร้างกระดูกลดลง อีกทั้งยังเกิดการสลายตัวของมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก จึงเป็นภาวะของโรคกระดูกพรุน

เมื่อสมดุลของกรด – เบสในเลือดถูกทำลาย ความสมดุลของแคลเซียมและฟอสเฟตในมวลกระดูกก็จะเสียไปด้วย ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยโรคไต โดยการรักษาภาวะกระดูกพรุนส่วนใหญ่ต้องมั่นใจว่าไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับไต ซึ่งยาจะเข้าไปช่วยขับฟอสเฟตออกจากกระดูกได้

3. โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

โรคถุงลมโป่งพองเกิดจากการขยายตัวอย่างผิดปกติของถุงลมส่วนปลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคปอดอุดตันเรื้อรัง มักจะพบมากในผู้ป่วยเพศชาย สาเหตุเบื้องต้นมาจากการเป็นโรคหลอดลมเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน การขาดเอนไซม์ในปอด ละปัจจัยเรื่องการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด อีกทั้งการรับสารพิษหรือมลพิษทางอากาศเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ถุงลมในปอดไม่ทำงาน และเกิดการขยายตัยจนโตกว่าขนาดปกติ

ผู้ป่วยโรคนี้โดยส่วนใหญ่จะมีอาการหายใจเร็ว สัมพันธ์กับที่ออกซิเจนในปอดลดลง ทำให้หายใจลำบาก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย การเดินหรือการทำงานในชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยลำบากเพราะหายใจผิดปกติ เป็นมากในขณะที่หายใจออกมากกว่าการหายใจเข้า เหตุมาจากการอักเสบของหลอดเลือดภายในปอด

3 สาเหตุหลักของการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนของคนไข้ถุงลมโป่งพอง คือ

  • เนื่องจากมีอาการเหนื่อยง่าย ทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว จึงไม่มีการออกกำลังกาย ไม่มีการเสริมสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรง ทำให้กระดูกเสื่อมสภาพได้เร็ว เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น
  • ผู้ป่วยโรคถุงมโป่งพองจะขาดวิตามินดี และการไม่ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ ส่งผลให้เกิดการอักเสบภายใน มวลกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก
  • การได้รับยาสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะในกลุ่มขยายหลอดลมที่ต้องกินเป็นระยะเวลานาน ซึ่งยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำลายมวลกระดูก

3 อาการเสื่อมนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนที่อันตราย สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีให้ยากลุ่มลดอัตราการสลายของมวลกระดูกและให้ยากลุ่มที่เสริมสร้างมวลกระดูก

อย่างไรก็ตามการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนควรจะอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ เช่น นม ถั่วเหลือง ถั่วเขียว โยเกิร์ต ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่สามารถรับประทานได้ทั้งกระดูก อีกทั้งการรับวิตามินดีจากแสงแดดอ่อนๆ บ่อยๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณวันละ 15 – 20 นาที ก็นับเป็นวิธีการป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ดีเช่นกัน

จาก คอลัมน์ HAPPY BONE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 494
ขอบคุณข้อมูล : https://goodlifeupdate.com
ภาพ : นิตยสารชีวจิต

3 โรคร้ายที่เมื่อเป็นแล้ว เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน