อ่อนเพลีย (Fatigue) หมายถึงอาการที่แสดงถึงความรู้สึกเหนื่อยล้า ขาดพลังงานหรือขาดแรงจูงใจ สาเหตุของอาการอ่อนเพลียส่วนใหญ่เกิดจากโรคประจำตัวที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก หรืออาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ
หากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือสงสัยว่าอาการที่เป็นอาจมีสาเหตุมาจากสุขภาพร่างกายหรือสุขภาพจิตที่อ่อนแอ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
อาการอ่อนเพลีย
มีสาเหตุมาจากภาวะหรือโรคบางอย่างที่สามารถอธิบายได้หลายรูปแบบ โดยเป็นอาการที่ทำให้รู้สึกอ่อนแอ เหนื่อยล้า หรือหมดแรง ซึ่งอาการอ่อนเพลียอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน ที่อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกหนาว ผิวแห้งและผมเปราะ
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด หรือผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจตื้น หรือเหนื่อยง่ายระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะบ่อย (Polyuria) ดื่มน้ำมากผิดปกติ (Polydypsia) หรือมีการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป
- ผู้ป่วยโรค ไขมันพอกตับ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มึนงง ความสามารถในการตัดสินใจและสมาธิลดลง
สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย
อาการอ่อนเพลีย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปัจจัยในการดำเนินชีวิต ภาวะทางสุขภาพ และปัญหาสุขภาพจิต
ปัจจัยการดำเนินชีวิต
- นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีอาการเจ็ตแล็ก (Jet lag)
- หักโหมทำงานหนักเกินพอดี
- อยู่ในสภาวะเครียดเป็นเวลานาน
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
- มีน้ำหนักตัวมากเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- รู้สึกเบื่อหน่ายตลอดเวลา หรือกำลังเศร้าโศก
- รับประทานอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติดเป็นประจำ
- ไม่ออกกำลังกาย หรือมีการออกกำลังกายหนักเกินไป
- ใช้ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยารักษาอาการซึมเศร้า และยากล่อมประสาท
ภาวะทางสุขภาพ
อาการอ่อนเพลียหากเป็นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรค หรือวิธีบำบัดรักษาโรค หรือเป็นสัญญาณของภาวะทางสุขภาพ ได้แก่
ปัญหาสุขภาพจิต
อาการอ่อนเพลียอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพจิตได้ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยของโรคทางจิต เช่น
- โรคเครียด
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Depression)
เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์
หากพบว่าอาการอ่อนเพลียนั้นมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต และมีอาการคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตาย หรือมีความกังวลว่าตนเองจะไปทำร้ายคนอื่น และหากมีอาการอ่อนเพลียที่มีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป
- เจ็บหน้าอก
- หายใจหอบเหนื่อย
- รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
- หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว
- ปวดท้องรุนแรง และปวดหลังหรือบริเวณเชิงกราน
- นอกจากนี้ หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ในทันที
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- มีเลือดออกผิดปกติ มีเลือดออกทางทวารหนัก หรืออาเจียนเป็นเลือด
การวินิจฉัยอาการอ่อนเพลีย
สำหรับการวินิจฉัย แพทย์จะสอบถามข้อมูลของผู้ป่วย เช่น ช่วงเวลาที่เกิดอาการ หรืออาการข้างเคียงอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย โรคประจำตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด รวมไปถึงยาที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ หากแพทย์วินิจฉัยและได้สันนิษฐานว่าสาเหตุของอาการอ่อนเพลียของผู้ป่วยเกิดจากโรคหรือภาวะทางร่างกาย แพทย์อาจทำการทดสอบอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดหรือปัสสาวะ
การรักษาอาการอ่อนเพลีย
เนื่องจากอาการอ่อนเพลียอาจมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัว ดังนั้นวิธีการรักษาจึงต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุจากทางด้านร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจเป็นทั้งสองอย่างรวมกัน เช่น ผู้ป่วยภาวะโลหิตจาง เมื่อปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น อาการอ่อนเพลียก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ อาการอ่อนเพลียจะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาจนฮอร์โมนกลับมาอยู่ในระดับปกติ
ภาวะแทรกซ้อนที่มาพร้อมกับอาการอ่อนเพลียอาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยหรือหมดแรงได้ ผู้ที่มีอาการจึงจำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
วิธีป้องกันและแก้ไขอาการอ่อนเพลีย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำอย่างพอเหมาะ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ทำกิจกรรมเพื่อให้ผ่อนคลาย เช่น การเล่นโยคะ
- หาวิธีจัดการกับความเครียดเช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ฯลฯ และไม่ทำงานหนักจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรข้ามมื้ออาหารโดยเฉพาะมื้อเช้า
- หากเกิดปัญหาทางอารมณ์ ควรเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหา ไม่ควรเพิกเฉยและหนีปัญหา อาจปรึกษาคนใกล้ชิดเพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา
ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็อาจช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้ไม่มากก็น้อย สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ก็ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ตามความเหมาะสม เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาการอ่อนเพลียอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจได้