กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ยา, โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รักษา, โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจาก,

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากอะไร?

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ Cystitis เกิดจากเชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคที่มาจากทวารหนัก โดยเฉพาะเมื่อมีสภาวะที่เอื้ออำนวย เช่น ความไม่สะอาด กิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวาน และยังมีโรคในทางเดินปัสสาวะหลายโรคเอื้ออำนวยให้เกิด หรือเกิดร่วมกันกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ?

  • ผู้หญิง มีท่อปัสสาวะที่สั้นมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย เชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดจึงมีโอกาสคืบคลานเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า จึงมักพบโรคนี้ในผู้หญิงทุกวัยมากกว่าในผู้ชาย โดยเฉพาะในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ในวัยหมดประจำเดือน และในหญิงสูงอายุ ซึ่งเยื่อบุทางเดินปัสสาวะจะบางลง ช่องคลอดแห้ง และความต้านทานโรคต่ำลง เชื้อแบคทีเรียจะกระจายไปสู่ท่อปัสสาวะได้ง่าย ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ชายที่มีอายุ 50 – 60 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต เป็นปัจจัยทำให้ชายสูงอายุเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เท่าเทียมกับผู้หญิงสูงอายุ

อาการเตือนของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการที่สำคัญและสังเกตได้ง่าย คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัด อาจปัสสาวะบ่อยมากทุกๆ 1-2 ชั่วโมง หรือกระปริบประปรอย หรืออาจแสบขัดมาก จนไม่อยากขับถ่ายปัสสาวะแล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ปัสสาวะไม่ค่อยสุด หรือมีปัสสาวะหยดหรือไหลซึมออกมาอีก
  • ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็ง หรืออาจปวดแบบถ่วงๆ แบบเป็นๆ หายๆ หรืออาจรู้สึกปวดอยู่ตลอดเวลา
  • พอรู้สึกปวดต้องรีบไปขับถ่ายปัสสาวะ บางครั้งกลั้นไม่อยู่จนมีปัสสาวะเล็ดออกมา
  • ปัสสาวะปวดเบ่ง หรือปัสสาวะไม่ค่อยออก
  • ปัสสาวะมีเลือดหยดออกมาตอนสุด หรือมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขุ่น
  • ในคืนหนึ่งๆ ต้องตื่นลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิน 2 ครั้งขึ้นไป
  • ในกรณีที่กระเพาะปัสสาวะอักเสบเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจไม่ได้สังเกตอาการ หรืออาจเคยชินกับอาการเหล่านั้น และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพชีวิตได้

การตรวจและวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ผู้ที่มีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายๆ อย่าง ถ้าตรวจพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะ ก็วินิจฉัยได้เลยว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ การตรวจร่างกายอาจพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อย มีไข้ อาจตรวจพบการอักเสบ บวมแดง หรือพบแต้มเลือด หรือพบเมือกขุ่นขาวที่ปลายท่อปัสสาวะ อาจจำเป็นต้องตรวจหาต้นเหตุอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วย

โรคอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต, กรวยไต, ท่อไต หรือ กระเพาะปัสสาวะ)
  • โรคประสาทกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
  • โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติแต่กำเนิดแบบเรื้อรัง
  • โรคกระเพาะปัสสาวะหย่อน
  • โรคมดลูกและกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานหย่อนยาน
  • โรคกระเพาะปัสสาวะ หรือ หูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อม
  • โรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินปกติ
  • โรคเยื่อบุช่องคลอดซูบแห้งในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • โรคมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ
  • ในผู้สูงอายุชายต้องคำนึงถึงโรคสำคัญของต่อมลูกหมาก 3 โรค คือ
    – ต่อมลูกหมากโต
    – ต่อมลูกหมากอักเสบ
    – มะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ให้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม ทั้งชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาที่ให้
  • ให้ยารักษาอาการเช่น อาการปัสสาวะลำบาก อาการปวด อาการเจ็บแสบ
  • ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ วันละ 2-5 ลิตรต่อวัน (24 ชั่วโมง)
  • ให้รักษาอนามัยของร่างกาย และอนามัยในกิจกรรมทางเพศ
  • ต้องติดตามตรวจปัสสาวะหลังให้ยารักษา5-10 วัน
  • พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อาการทุเลาหรือหายไปแล้ว แต่การอักเสบยังคงมีอยู่ หรือยังมีต้นเหตุที่เอื้ออำนวย หรือ เกิดร่วมกันอยู่ ซึ่งถ้าไม่ติดตามกำจัดโรค และต้นเหตุให้หายขาด อาจกลับมาเป็นซ้ำ หรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง เป็นผลเสียต่อสุขภาพชีวิต ในบางรายโรคอาจลุกลามไปที่ไตซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะไตวายได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต

มีวิธีดูแลและป้องกันตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ?

  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ และบริเวณทวารหนักเสมอ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ โดยเฉพาะผู้หญิงควรทำความอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อลดการนำเชื้อโรคจากรูทวารและช่องคลอดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ
  • รักษาอนามัยในกิจกรรมทางเพศ และในระยะที่มีประจำเดือน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยให้ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นร่างกายก็จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้เอง
  • หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ โดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้แบคทีเรียในปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าต้องเดินทางเป็นเวลานานๆ ไม่ควรดื่มน้ำมาก
  • เมื่อมีโรคใดๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อ ต้องรีบเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการลุกลามของโรคต่อไป
  • เมื่อมีโรคที่เอื้ออำนวย เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือโรคอื่นๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลไทยนครินทร์

“กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” โรคที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง