ความดันโลหิตสูง

กรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี แนะนำให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารรสเค็มจัด งดสูบบุหรี่ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงสารเสพติดประเภทต่างๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี

เพชฌฆาตเงียบ ความดันโลหิตสูง

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช โฆษกกรมการแพทย์และรองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งภาวะความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หรืออาการที่บ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน จึงมักจะถูกขนานนามว่าเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยที่ไม่รู้ตัวมาก่อน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด

โดยทั่วไปจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายที่เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนแล้ว เช่น วิงเวียน ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ เหนื่อย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น กรรมพันธุ์ มีพ่อ แม่ พี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  2. ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ขาดการออกกำลังกาย อ้วนหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เครียดเรื้อรัง เพราะฉะนั้น หากพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้ถือเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

วิธีลดความดันโลหิต

วิธีลดความดันโลหิต ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น

  • ลดอาหารรสเค็มจัด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผงปรุงรส หรือผงชูรส ขนมขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง ของหมักเกลือ หมักดอง
  • รับประทานผักให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน เช่น คื่นช่าย กระเทียม ผักใบเขียว
  • รับประทานผลไม้ที่ไม่หวานจัดให้มากขึ้น เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง สาลี่ มะละกอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง/วัน
  • งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
  • ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่น รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ ฟังเพลง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
  • ตรวจวัดค่าระดับความดันโลหิตเป็นประจำ
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง และมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ขอขอบคุณ
ข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เรียบเรียง : คอร์ดี้ไทย (ถั่งเช่า ม.เกษตร)
ภาพ : www.healthline.com

 

“ความดันโลหิตสูง” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม