ไขมันเกาะตับ

ปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บถามหาเรากันได้ง่ายมากขึ้น เร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินของเราเอง ยิ่งพบเจอได้ง่าย ตรวจสุขภาพเมื่อไหร่ก็ต้องมาคอยนั่งลุ้นว่าไตรกลีเซอไรด์จะพุ่งหรือเปล่า คอเลสเตอรอลจะเกินไหม โดยเฉพาะค่าน้ำตาลในเลือดที่อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อสารพัดโรค ซึ่งนอกจากโรคเบาหวานแล้ว ยังมีอีกโรคหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน นั่นคือ ไขมันพอกตับ

 

ไขมันพอกตับ คืออะไร?

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือการที่พบไขมันเกาะอยู่ที่ตับด้านนอก โดยไขมันที่ว่าจะมาจากปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินกว่าปกติในร่างกาย ที่ตับสร้างออกมา เป็นภาวะที่ตับทำงานผิดปกติทำให้มีไขมันเกาะตัวอยู่ที่เนื้อตับ

พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ

  1. ทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน (เลว) สูงเป็นประจำ เช่น น้ำอัดลม ขนมจากร้านเบเกอรี่ อาหารมัน อาหารทอด เป็นต้น
  2. อยู่ในเกณฑ์อ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  3. อยู่ในช่วงวัยกลางคน อายุ 45 – 50 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการเผาผลาญพลังงานน้อยลง
  4. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้อยู่แล้ว ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
  5. ทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาในกลุ่มที่เป็นฮอร์โมนทดแทน
    และยาในกลุ่มสเตียรอยด์
  6. ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีการเผลาผลาญพลังงานน้อยลง
  7. สูบบุหรี่ หรือ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ

 

อาการของภาวะไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับถือเป็นภัยเงียบ ซึ่งผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตับมีความผิดปกติ เพราะในระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาให้เห็น จนกว่าจะไปถึงระยะที่ตับเริ่มอักเสบ อาจจะเริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรืออาจมีอาการปวดท้องที่บริเวณใต้ชายโครงขวาเล็กน้อย หากตับเริ่มอักเสบมากขึ้น อาจมีอาการของโรคดีซ่าน คือ ปัสสาวะสีเข้ม  อุจจาระสีซีด ตัวเหลือง เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ?

อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่าอาการที่พบในระยะแรกๆ มักไม่ค่อยชัดเจน ดูแล้วไม่รุนแรง และเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับโรคอื่นๆ ทั่วไป จึงอาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจเพราะไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือทุก 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถตรวจพบได้ผ่านการอัลตร้าซาวนด์ และตรวจเลือด ประกอบกัน

 

วีธีป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

  1. หากใครมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรืออยู่ในเกณฑ์อ้วน ให้ลดความอ้วนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้ สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกันว่าควรจะมีน้ำหนักอยู่ในระยะเท่าไร
  2. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน (เลว) สูง เช่น อาหารทอด อาหารปิ้งย่าง เนื้อแดง น้ำอัดลม เครื่องดื่มน้ำตาลสูงอื่นๆ ขนมจากร้านเบเกอรี่ (ทานข้าวกล้องจะดีกว่าข้าวขาว) และควรเลือกทานผักผลไม้มากขึ้น
  3. งดสูบบุหรี่ และ ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 วัน ครั้งละ 45 นาที – 1 ชั่วโมง
  5. หากมีความจำเป็นต้องทานยาในกลุ่มเสริมฮอร์โมน และสเตียรอยด์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และภาวะไขมันพอกตับ
  6. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรกๆ ผ่านการอัลตร้าซาวนด์ และการตรวจเลือด เท่านั้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก  : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, หาหมอ
เรียบเรียงโดย : ถั่งเช่า ม.เกษตร, คอร์ดี้ไทย
ภาพ : iStock

 

7 พฤติกรรมเสี่ยง “ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบที่กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายเกินไป