นอนทั้งวัน ไม่มีแรง อ่อนเพลีย

คนส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำจนติดเป็นนิสัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันมากกว่าที่คิด ดังนั้นหากไม่อยากให้เกิดผลเสียในระยะยาว การรู้เท่าทันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแย่ๆ ก่อนสายเกินแก้ คือสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจและปรับเปลี่ยนตั้งแต่ตอนนี้

  1. ตามใจปาก ไม่หิวก็จะกิน

พฤติกรรมการกินตามใจปากทำให้สุขภาพเสียได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคร้ายต่างๆ ทั้งไขมันอุดตัน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมไปถึงโรคอ้วน ทางที่ดีควรจะเลือกกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และที่สำคัญควรกินอาหารให้เป็นเวลา แต่ถ้าติดตามใจปากแล้วอยากเลิกล่ะต้องทำอย่างไร ทำได้ด้วยการหยุดกินเมื่อเริ่มรู้สึกว่าอิ่ม ถือคติกินไม่หมดก็ไม่เป็นไร ไม่กินขนมระหว่างมื้ออาหาร หรือถ้าไม่อยากหักดิบในช่วงแรกๆ ก็อาจทดแทนความอยากด้วยน้ำหรือธัญพืชที่มีประโยชน์แทนขนม

  1. ดูทีวีทั้งวัน

ผลการวิจัยพบว่า การดูทีวีมากกว่าวันละ 2 ชั่วโมง เพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ เนื่องจากการดูทีวี โดยเฉพาะดูซีรีย์ยาวๆ มักจะมาคู่กับของกินและเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยแป้งและน้ำตาล ทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้เกิดปัญหาทางสายตา และอาการออฟฟิศซินโดรมตามมาอีกด้วย ทางที่ดีควรแบ่งช่วงเวลาการดูทีวีตามสูตร 2/30 คือ ดูทีวี 2 ชั่วโมงแล้วไปออกกำ่ลังกาย 30 นาที ทำ่แบบนี้จะทำให้ได้ออกกำลังกายไปในตัว และระหว่างที่ดูทีวี 2 ชั่วโมงนี้ ทำได้แค่ดื่มเปล่าเท่านั้น ห้ามกินเด็ดขาด

  1. ไม่กินอาหารเช้า

เพราะอาหารเช้าคือพลังงานที่สำคัญมาก หากพลาดมื้อเช้าไป วันนั้นทั้งวันจะรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง เมื่อร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลงก็สะสมเอาไว้จนน้ำหนักเกิน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนเรื่องการกินอาหารเช้าทำได้ไม่ยาก หากพลาดมื้อเช้าเพราะไม่มีเวลา ก็ต้องขยับเวลาเข้านอน และเวลาตื่นนอนให้เร็วขึ้น หรือหากไม่สะดวกกินเป็นมื้อๆ ควรมีโยเกิร์ต นม และ ธัญพืชอบกรอบติดบ้านไว้เป็นมื้อเช้าอย่างง่ายๆ ก็ได้เช่นกัน

  1. วิตกกังวล ชอบแบกโลกทั้งใบ

ความวิตกกังวล ความคิดมาก แม้จะไม่ใช่ความเครียดก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ไม่ต่างจากเวลาที่เครียดจัด เนื่องจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด(Stress hormones) ออกมา ทำให้น้ำตาลพุ่ง ความดันขึ้นสูง ความสามารถในการเผาผลาญพลังงานน้อยลง ซึ่งในระยะแรกๆ อาจทำให้เกิดโรคอ้วน แต่พอนานๆ ไปอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง ทำความเข้าใจกับความเป็นไปของสรรพสิ่งต่างๆ บนโลก ระบายความกังวลด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ หรือออกกำลังกาย จะช่วยลดความกังวลลงได้

5. กัดเล็บ

การกัดเล็บถือเป็นอาการอย่างหนึ่งของคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง คิดมาก  เครียด ทำให้เกิดปัญหาตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสึกกร่อนของพื้นที่กัดแทะเล็บ การเรียงตัวของฟันหน้า การผิดรูปถาวรของเล็บและฟัน และการติดเชื้อในร่างกายจากขี้เล็บที่ติดมา เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการหาสาเหตุของการกัดเล็บว่ากัดเพราะอะไร กัดเวลาที่รู้สึกแบบไหน หลังจากนั้นก็หลีกเลี่ยงที่จะรู้สึกแบบนั้น อย่างไรก็ตามหากยังเลิกไม่ได้ แนะนำให้เอาบอระเพ็ดมาถูตามปลายนิ้วปลายเล็บ จะช่วยได้อย่างแน่นอน

  1. งานเผานาทีสุดท้าย

ใครที่ชอบดองงานจนถึงนาทีสุดท้าย รู้หรือไม่ว่านั่นคือการทำร้ายตัวเอง อดหลับ อดนอน พอทำงานดึกๆ ก็หาอะไรรองท้อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนนำไปสู่โรคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเครียด ร่างกายอ่อนล้า โรคกระเพาะ โรคกรดไหลย้อน ที่สำคัญงานที่ทำมักออกมาไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามเราสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยมีความรับผิดชอบ จัดการตารางเวลาให้ดีว่าต้องทำอะไรวันไหน อย่างไร แล้วทำตามตารางอย่างเคร่งครัด จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ

  1. ติดโซเชียล

อาการติดโซเชียลทำให้เกิดสังคมก้มหน้า(ก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์กลายเป็นพฤติกรรมหลักในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว) ใช้สายตามากขึ้น เพราะต้องเพ่งสายตา นอกจากนี้การเปรียบเทียบชีวิตกับคนอื่นๆ ยังอาจทำให้ความพอใจในตัวเองลดน้อยลง รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะเวลาหมดไปกับการใช้โทรศัพท์ ทำให้สมาธิสั้นลงเพราะถูกเรียกร้องความสนใจจากการตั้งเตือนต่างๆ การบำบัดอาการติดโซเชียลสามารถทำได้โดยลดการใช้งานให้น้อยลงในแต่ละวันปิดการแจ้งเตือนต่างๆ แล้วเลือกเปิดเช็คเฉพาะสิ่งที่สำคัญๆ เท่านั้น รวมถึงให้เวลาในการทำ่กิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

  1. นอนทั้งวันไม่ทำอะไรเลย

เพราะมนุษย์ไม่ได้อยู่กับที่ได้ตลอดเวลาหรือเคลื่อนไหวเพียงแค่วันละนิด การนอนทั้งวันจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เนื่องจากแต่ละวันมีกิจกรรมผูกตัวเองไว้กับความวิตกกังวล ความเครียด ต่างๆ มากมาย การได้ออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น สำหรับในที่ทำงานไม่ควรนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน อย่างน้อย ก็ควรเปลี่ยนท่านั่งทุกๆ 20 นาที ลุกขึ้นมาขยับแข้งขยับขา ทุก 1 ชั่วโมง จะช่วยป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม(Office syndrome)ได้

  1. กินไปทำงานไป

ปัจจุบันคนทำงานยุ่งกันมากขึ้น บางคนต้องกินอาหารบนโต๊ะทำงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะถึงปากจะเคี้ยวอาหารไป แต่สองมือสองตาก็ยังคงง่วนกับการทำงานอยู่ดี การใช้ชีวิตแบบนี้ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า การกินข้าวอย่างตั้งใจโดยปราศจากสิ่งรบกวนจะทำให้อิ่มท้องได้นานกว่าการกินไปทำ่งานไปถึง 30 นาที แถมยังลดความต้องการในอาหารมื้อหน้าได้อีกด้วย

  1. โมโหง่าย หัวร้อนกับทุกเรื่อง

เมื่อคนเราโกรธหรือโมโห ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมาสู้กับการอักเสบต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็จะกระตุ้นความต้องการน้ำตาลและการหลั่งน้ำตาลในเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากความโกรธทำให้หัวใจทำ่งานเร็วขึ้น เกิดเป็นโรคความดันโลหิตสูงตามมา นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ จนทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย ซึ่งอาการเกรี้ยวกราด หัวร้อน โมโหง่ายแบบนี้ เราสามารถทำให้เย็นลงได้ด้วยการตั้งสติ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อกำหนดลมหายใจเข้า-ออก

ขอขอบคุณข้อมูล :  www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบ : mthai.com

10 พฤติกรรมแย่ๆ ที่ควรเลิกทำ ก่อนจะสายเกินแก้!!!