นอนน้อย

อดนอนบ่อยๆ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างที่รู้กัน แต่มากไปกว่านั้นคือการอดนอนเพียงคืนเดียวก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคได้มากมายเลย

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นวินัยประจำวันที่ควรทำเพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกาย แต่ต้องเข้าใจว่าบางคนงานรัดตัว หาเวลานอนไม่ค่อยจะได้ เลยอดนอนบ้าง นอนไม่พอบ้างอยู่บ่อยๆ ซึ่งถ้ายังไม่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนนอนหลับ และไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็อยากเตือนให้ระวังว่าคุณจะเสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นโดยไม่ทันรู้ตัว

1. โรคหวัด

การนอนไม่พอมีผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง ทำให้เป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ และจากผลการวิจัยส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/คืน มีโอกาสป่วยมากกว่าคนที่นอนเกิน 8 ชั่วโมง/คืน เป็น 3 เท่า และคนที่นอนหลับยากนั้นก็มีโอกาสป่วยได้ง่ายกว่าคนที่หัวถึงหมอนแล้วหลับเลยถึง 5.5 เท่า

2. โรคทางสายตา

การนอนไม่พอมีผลทำให้สายตาของเราพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด และหากนอนไม่พอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจมีอาการเห็นภาพหลอนด้วย โดยมีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า ตาของเราควรได้รับการพักผ่อนในตอนกลางคืนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง เพื่อการฟื้นฟูเซลล์ที่สึกหรอไปในระหว่างการใช้งานในแต่ละวัน และถ้าหากนอนน้อยกว่านั้นก็จะเกิดอาการหนังตาเขม่น กล้ามเนื้อตากระตุก ดังเช่นที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับโชคลาง ซึ่งความจริงแล้ว อาการกล้ามเนื้อตากระตุก มองเห็นเป็นภาพซ้อน เบลอ หรือพร่ามัว เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาไม่ได้รับการซ่อมแซมตัวเองอย่างสมบูรณ์นั่นเอง

3. โรคเบาหวาน

อดนอนเพียงแค่คืนเดียวก็เสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้แล้วนะคะ โดยข้อมูลนี้เป็นงานวิจัยจาก Cedars-Sinai Medical Center ลอสแอนเจลิส ที่ทดลองกับสุนัขแล้วพบว่า สุนัขกลุ่มที่อดนอน 1 คืน มีภาวะดื้ออินซูลินอยู่ที่ 33% ในขณะที่สุนัขกลุ่มที่ถูกขุนจนอ้วนตุ้บก็มีภาวะดื้ออินซูลินราว 21% ซึ่งนักวิจัยบอกว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกันจนน่าตกใจ

ทั้งนี้นักวิจัยได้วิเคราะห์ว่า การอดนอนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ร่างกายจึงเร่งผลิตอินซูลินเพื่อคงระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ จนอาจทำให้ฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกต่อไป ทำให้ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นนั่นเอง และแม้จะเป็นเพียงการทดลองกับสุนัข แต่ผลเสียของการอดนอนในคนก็ไม่ได้ต่างกันมากสักเท่าไร

4. โรคอ้วน

สถาบัน Obesity Society ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า การอดนอนอาจทำให้เป็นโรคอ้วนได้ง่ายๆ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดน้อยจนกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากรับประทานอาหารรสหวานมากกว่าปกติ นอกจากนั้นระบบเผาผลาญของคนที่นอนไม่พอยังทำให้เกิดอาการขี้เกียจทำงาน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งพออ้วนก็นำมาสู่โรคความดัน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากมาย

5.โรคหัวใจ

นักวิจัยได้ทำการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่นอนเลยเป็นเวลา 88 ชั่วโมง ผลที่ได้คือ กลุ่มอาสาสมัครเหล่านั้นมีระดับความดันเลือดสูงมาก และเมื่อเปลี่ยนมาให้กลุ่มอาสาสมัครนอนนาน 4 ชั่วโมงใน 1 คืน ผลปรากฏว่า อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าเฉลี่ยการเต้นของหัวใจใกล้เคียงกับคนที่ได้นอนปกติ และสิ่งที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจก็คือ สารโปรตีนที่มีสะสมตัวมากขึ้นในขณะที่เราตื่น และจะถูกขับออกจากร่างกายโดยธรรมชาติเมื่อเราหลับ ดังนั้นหากใครที่อดนอน หรือนอนน้อยเป็นเวลานานจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้

6. โรคหลอดเลือดสมองตีบ

จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่อดนอนบ่อยๆ หรือนอนไม่พอ มักจะมีปัญหาความจำไม่ดี ปวดศีรษะ และเมื่อทำการเอกซเรย์สมองมักจะพบว่ามีภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เส้นสมองที่ตีบก็จะมีอาการดีขึ้นได้ สำหรับสาเหตุที่การอดนอนทำให้เส้นเลือดสมองตีบนั้น ควรต้องมีการศึกษาเรื่องนี้มากขึ้นในอนาคต

7.โรคอัลไซเมอร์

จากการศึกษาโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins พบว่า การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยทำการศึกษาความเกี่ยวข้องกันระหว่างการนอนหลับและตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าระยะเวลาในการนอนหลับที่สั้นเกินไป และการนอนหลับที่ไม่ดี มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของ beta-amyloidz(เบต้า-อะมีลอยด์) ซึ่งเป็นโปรตีนขนาดเล็ก และมีพิษต่อเซลล์ประสาท เมื่อเกิดการสะสมก็จะจับตัวกันกลายเป็นคราบพลัคที่บริเวณเซลล์สมอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และการค้นพบในครั้งนี้ยังช่วยทำให้ค้นพบวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ในกลุ่มผู้สูงวัยที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ มักจะมีอาการนอนไม่หลับ ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีการพักผ่อนที่เพียงพอ ปริมาณของเบต้า-อะมีลอยด์ ที่อยู่ในเลือดก็จะลดลง และทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์ดีขึ้นได้

8. โรคจิตเวช

การอดนอนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ อาจส่งผลให้มีปัญหาทางจิตได้ เช่น ประสาทหลอน อาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ระแวงว่ามีคนจะมาทำร้าย หรือมีอาการคล้ายกับโรคไบโพลาร์ มีอารมณ์แปรปรวน หรืออาจเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากขึ้น เนื่องจากการอดนอนส่งผลต่อระบบฮอร์โมนโดยตรง ทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ได้ง่ายขึ้น

9.โรคร่าเริง

ชื่อโรคอาจดูไม่ร้ายแรงแต่จริงๆ แล้วแฝงอันตรายไว้ไม่น้อยค่ะ อาการของโรคไม่ได้ทำให้ร่าเริงเหมือนชื่อโรค เพราะคนที่เป็นโรคร่าเริงจะรู้สึกอ่อนเพลียในช่วงกลางวัน ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน และหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย แต่ในทางกลับกันช่วงกลางคืนสมองจะแล่น ความคิดสร้างสรรค์บังเกิด และรู้สึกกระปรี้กระเปร่าอย่างเต็มที่ จนทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างที่ควร ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวกับการหลั่งฮอร์โมนของต่­­อมไร้ท่อ ร่วมกับพฤติกรรมอดหลับอดนอน โดยเฉพาะคนที่ชอบอ่านหนังสือหรือทำงานหามรุ่งหามค่ำต่อเนื่องกันหลายวัน ระบบการทำงานของร่างกายและนาฬิกาชีวิตจะแปรปรวนไปหมด ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงต่อโรคร่าเริง ก็ควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ทุกคืนนะคะ

10. โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก(Bell’s Palsy) หรืออัมพาตครึ่งเกิดจากซีกที่ใบหน้า เป็นอาการที่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนล้า อาจเกิดขึ้นได้ทั้งสองด้านหรือด้านเดียวก็ได้ โดยสาเหตุของโรคก็มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อเริมที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่เรียกว่าเส้นประสาทใบหน้า ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และหากมีการติดเชื้อในส่วนนี้การทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าก็จะหยุดชะงักชั่วคราว ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างเฉียบพลัน เช่น หลับตาไม่สนิท ปากเบี้ยว  อย่างไรก็ตามการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถกระตุ้นโรคได้ เนื่องจากเมื่อร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ภูมิต้านทานในร่างกายก็จะลดต่ำลงจนอาจติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความเครียดร่วมด้วย

11. โรคมะเร็ง

นักวิจัยส่วนใหญ่ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่า พฤติกรรมการนอนน้อย สามารถทำให้โรคมะเร็งบางชนิดกำเริบได้ เช่น มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม แต่สำหรับโรคมะเร็งชนิดอื่นนั้น ขึ้นอยู่กับการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากกว่า
   

นอกจากนี้การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ยังเป็นสาเหตุทำให้แก่ก่อนวัย ผิวพรรณเหี่ยวย่นอีกด้วยนะคะ เนื่องในขณะที่เรานอนหลับ เลือดจะถูกสูบฉีดส่งไปยังเส้นเลือดฝอยมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เซลล์ผิวหนังได้รับการซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเอง ทว่าหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะเป็นการขัดขวางกระบวนการรักษาและซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ผิวหนังในจุดนี้ได้ ส่งผลให้ผิวพรรณดูไม่ผ่องใสอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีปราศจากโรคภัย เราควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ร่วมกับรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่นะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

  • เฟซบุ๊ก Pleasehealth Books 
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Sciencedaily
  • Obesity Society
อดนอนมากไป ระวังโรคภัยจะถามหา! 11 โรคที่เสี่ยงเพราะแค่อดนอน